หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 79% “กสิกรไทย” ชี้เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจไทย

ธนาคารกสิกรไทยห่วงหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 79% ต่อจีดีพีฉุดเศรษฐกิจไทยให้โตยาก ชี้มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4-แบงก์ชาติผ่อนปรน LTV ไม่ช่วย ลุ้นงบประมาณปี’63 ผ่านดันการลงทุนรัฐโต 6.9%

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะเติบโต 2.7% โดยมีปัจจัยหนุนจากการผ่านร่างงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการลงทุนของภาครัฐให้เติบโตได้ 6.9% อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่กดดันตลาด ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน แม้จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากที่มีการลงนามข้อตกลงเฟสแรก แต่ในส่วนของภาษีนำเข้าที่เคยปรับขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ยังคงอยู่เช่นเดิม ส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยประเมินตัวเลขนำเข้าในปีนี้ติดลบ 1%

นอกจากนี้ ปัจจัยลบเรื่องของภัยแล้งในประเทศคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.1% ของจีดีพี ดังนั้น จากปัจจัยลบที่ยังกดดันมีโอกาสที่ธนาคารกสิกรไทยจะปรับลดเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ลง ซึ่งจะดำเนินการหลังตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ประกาศออกมา

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ มองว่า มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 4 จะสามารถพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง โดยจะช่วยให้อุปสงค์การในการบริโภคปรับขึ้นได้เล็กน้อย และจะช่วยจัดการสินค้าในระบบให้ลดลงไปได้ ซึ่งอาจจะเป็นอานิสงส์เชิงบวกแก่สินค้าจำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ มองว่าประเด็นหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 79% ต่อจีดีพี และ 220% ต่อรายได้ ยังเป็นอุปสรรคที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ยาก

นอกจากนี้ การปรับเกณฑ์มาตรการ LTV ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเพิ่มความยืนหยุ่นให้กับการซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยจะยังเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการดูดซับอุปทานอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอุปทานในส่วนที่เป็นคอนโดมีเนียม

“ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่สดใสมากนัก การลดดอกเบี้ยนโยบายยังคงมีความจำเป็น แม้จะเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นก็ตาม โดยธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มองว่านโยบายการคลังมีส่วนที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลืออีกแรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือจากนโยบายการเงินด้วย“ นายกอบสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปีนี้ ประเมินว่าแนวโน้มจะยังแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าช่วงกลางปี 2563 ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ณ สิ้นปี 2563 คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.จะมีมาตรการลดเงินไหลเข้าระยะสั้นในตลาดตราสารหนี้ โดยส่งผลให้การถือครองตราสารหนี้ไทยลดลงเหลือ 6.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท (ก่อนใช้มาตรการ) อย่างไรก็ตาม ประเทศยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกว่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ