ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ จับตาการถอดถอนปธน.สหรัฐ-การเจรจาการค้าอียู-สหรัฐ

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 21 มกราคม  2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/1) ที่ระดับ  30.35/37 บาท/ดอลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (20/1) ที่ระดับ 30.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากวันจันทร์ (20/1) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐปฏิเสธญัตติถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง โดยระบุว่าญัตติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สภาผู้แทนสหรัฐลงมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ให้การอนุมัติต่อ 2 ญัตติในการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งได้แก่ การใช้อำนาจในทางมิชอบ และขัดขวางกระบวนการสอบสวนของสภาคองเกรส ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 3 ที่ถูกสภาผู้แทนฯลงมติถอดถอนอย่างเป็นทางการ และจะเผชิญกับการไต่สวนในวุฒิสภาเป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ดี พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ มีแนวโน้มรอดพ้นจากการถูกถอดถอนในวุฒิสภา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.35-30.40  บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (21/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1088/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (20/1) ที่ระดับ 1.1089/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเนื่องจากตลาดจับตาดูการแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ (21/1) นอกจากนี้นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างยุโรปและสหรัฐ หลังประธานาธิบดีเอมมูนาเอล มาครง ของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า เขาได้หารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ เกี่ยวกับภาษีดิจิทัลที่ฝรั่งเศสวางแผนจะเรียกเก็บจากบริษัทต่างชาติ โดยฝรั่งเศสและสหรัฐจะร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นภาษีศุลกากร ด้านแหล่งข่าวการทูตของฝรั่เศสเปิดเผยว่าประธานาธิบดีมาครงและประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตกลงที่จะชะลอการเก็บภาษีศุลกากรออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 และในระหว่างนี้ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะมีการเจรจาต่อรองกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นภาษีดิจิทัล ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1087-1.1099 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1087/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (21/1) เปิดตลาดที่ระดับ 110.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (20/1) ที่ระดับ 110.16/17 เยน/ดดอลลาร์สหรัฐ หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับ 0.7% ในปี 2563 จากระดับ 0.5% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน ต.ค. โดยระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศใช้เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2562 อีก 0.1% สู่ระดับระดับ 1% โดยได้ปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ขยายตัวได้ดีเกินคาด รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเพื่อชดเชยผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการอุปโภคบริโภคในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่ความแข็งแกร่งของการลงทุนภาคเอกชนก็เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจเช่นกัน โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.91-110.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.96/97เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราการว่างงานสหราชอาณาจักรเดือนพฤศจิกายน (21/1), การเปลี่ยนแปลงในจำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการสหราชอาณาจักร (21/1), ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมันจากสถาบัน ZEW เดือนมกราคม (21/1), ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจากสถาบัน ZEW เดือนมกราคม (21/1), ปริมาณธุรกรรมนำเข้าและส่งออกไทยเดือนธันวาคม (221), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรเดือนธันวาคม (22/1), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือนธันวาคม (22/1), ดุลการค้าประเทศญี่ปุ่นเดือนธันวาคม (23/1), อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหภาพยุโรป (23/1) จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (23/1), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป (23/1), ดัชนี PMI ญี่ปุ่น เยอรมัน สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (24/1)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.9/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.3/+1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ