หนี้เสียธุรกิจลามรายใหญ่ ธปท.เร่งสกัดก่อนวิกฤต

รายงานการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลเรื่องคุณภาพสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ด้อยค่าลงต่อเนื่อง และเริ่มลามสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้น

ที่ผ่านมา ธปท.และสมาคมธนาคารไทย จึงหารือร่วมกันเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว กระทั่งล่าสุดมี “มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้” ออกมา ซึ่งเป็น “มาตรการชั่วคราว” มีผลบังคับใช้ 2 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63-31 ธ.ค. 64

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เปิดเผยข้อมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ผู้ประกอบการรายกลาง ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 ว่า ตัวเลขหนี้เสียทะยานขึ้นแตะ 5.41 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 5.09 หมื่นล้านบาท

“กาญจนา โชคไพศาลศิลป์” ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลธุรกิจเอสเอ็มอีมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรายกลางที่เริ่มมีปัญหาการชำระ และกลายเป็นหนี้เสียมากขึ้น จึงต้องติดตามกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า

“เอ็นพีแอลในเอสเอ็มอีรายกลางเริ่มไล่ขึ้นมา สะท้อนภาพที่แบงก์ชาติให้ความเป็นห่วงและส่งสัญญาณออกมา เพราะจากเดิมจะเห็นแต่เอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีปัญหา”

ขณะที่ “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สัญญาณหนี้เสียธุรกิจที่เริ่มลามสู่รายใหญ่นั้น เห็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากภาพรวมธุรกิจเอสเอ็มอี ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องและการแข่งขันที่สู้รายใหญ่ไม่ได้ ตลอดจนปรับตัวไม่ทันกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เวลาที่มีปัญหาจะเห็นถึงความเปราะบางมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นอีกเรื่องที่ได้พูดคุยกันมา และมาตรการในส่วนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีการปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการฟ้องร้องใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาหนี้เสียได้เร็วขึ้น

“ปรีดี” ยอมรับว่า ลูกค้าเอสเอ็มอีของแบงก์กสิกรไทย ก็มีเป็นเอ็นพีแอลค่อนข้างมาก เพราะพอร์ตค่อนข้างใหญ่ อย่างไรก็ดี ปีนี้ธนาคารยังคงตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 1-3%

“กสิกรไทยมีพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก สัดส่วนราว 30% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด หนี้เอ็นพีแอลจากกลุ่มนี้ จึงอยู่ในระดับสูง” นายปรีดีกล่าว

“สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่สาเหตุส่วนใหญ่มาจากกำลังซื้อที่หายไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ยอดขายลดลง สภาพคล่องหายไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้หนี้เสียลามจากธุรกิจรายเล็กไปสู่รายใหญ่นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากมีการใช้วงเงินสินเชื่อระหว่างกัน เช่น กลุ่มเกษตร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีเครดิตเป็นซัพพลายเชนร่วมกัน ซึ่งหากรายเล็กขาดสภาพคล่อง และหยุดสั่งซื้อสินค้าจากรายกลางและรายใหญ่ จนเกิดปัญหาเบี้ยวหนี้ ก็จะกระทบรายกลางและรายใหญ่ตามมา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธนาคารยังไม่พบอัตราการเคลมหนังสือค้ำประกัน (L/G) ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด รวมถึงยังไม่เห็นสัญญาณการจ่ายเช็คที่มีปัญหา

“เป็นธรรมดาที่เอสเอ็มอีที่เป็นห่วงโซ่ หรือมีเครดิตไลน์ร่วมกัน เมื่อฝั่งหนึ่งขาดสภาพคล่อง อีกฝั่งก็อาจจะแย่ไปด้วย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แต่จากที่ดูตัวเลขหนังสือค้ำประกันและเช็คเด้งของเรายังไม่ได้เพิ่มขึ้น”

ฟาก “อดิศร เสริมชัยวงศ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอียังน่ากังวลและต้องเฝ้าติดตาม ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว อย่างไรก็ดี ในส่วนของซีไอเอ็มบี ไทย ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างลดลงจาก 5 หมื่นล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท รวมถึงธนาคารมีการคัดกรองที่ดีขึ้น ทำให้คุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น จึงไม่พบสัญญาณด้อยคุณภาพลามจากรายเล็กสู่รายใหญ่

“เราแก้ปัญหามาแล้ว เพราะเราเจอปัญหาก่อนใคร ลดพอร์ต แก้หนี้ ปรับโครงสร้างกันไป ตอนนี้เหลือเฉพาะลูกค้าที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งการที่ ธปท.ส่งสัญญาณ อาจจะเห็นแนวโน้มของทั้งระบบ” นายอดิศรกล่าว

“รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า มาตรการออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยต้องการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเจรจากับลูกหนี้ เพื่อลดดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้

“นี่เป็นมาตรการสำคัญ เพราะ ธปท. อยากส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีศักยภาพ เป็นลูกหนี้ที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือปรับตัวไม่ได้ในช่วงเศรษฐกิจที่กำลังเปราะบาง ให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้” นายรณดลกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ได้ขอให้สถาบันการเงินส่งรายงานการปรับโครงสร้างหนี้มาให้ ธปท.รับทราบทุกเดือน เพื่อติดตามว่าเป็นไปตามเป้าหรือไม่

ท้ายที่สุด คงต้องเอาใจช่วยให้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมานี้สามารถ “ดับไฟ” ไม่ให้ลุกลามบานปลายได้อย่างทันการ