คลังเข็น พ.ร.บ.ค้างท่อเข้าสภา เก็บภาษี “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” ตั้ง กบช.รับสูงวัย

คลังดันกฎหมายค้างท่อ 3 ฉบับ สรรพากรฟังความเห็น “อีบิสซิเนส” เก็บภาษี “กูเกิล-เฟซบุ๊ก-อาลีบาบา” อีกรอบ 14-29 ม.ค.นี้ ก่อนชงสภา ขณะที่ สศค.ปัดฝุ่นร่างกฎหมายตั้ง “กองทุน-บอร์ด” กบช.บังคับแรงงานในระบบออมเพิ่ม หนุนมีรายได้เพียงพอยังชีพหลังเกษียณ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายภาษีอีบิสซิเนสอีกรอบ ระหว่างวันที่ 14-29 ม.ค.นี้ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและเข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนรัฐสภาต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เร่งเดินหน้าเสนอกฎหมายต่าง ๆ ที่สำคัญของหน่วยงานในสังกัดที่ค้างอยู่ตั้งแต่ช่วงรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) โดยกรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายภาษีอีบิสซิเนสอีกรอบ จากก่อนหน้านี้เคยเปิดฟังความเห็นไปครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 ม.ค.-9 ก.พ. 2561 และได้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว

“กฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาและปรับปรุงร่างกฎหมายร่วมกับกระทรวงการคลังเสร็จแล้ว มีการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะถ้อยคำบางส่วน แต่ยังคงหลักการตามที่ ครม. เคยมีมติเห็นชอบไว้ แต่เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำดังกล่าว มีข้อความเปลี่ยนแปลงไปจากการรับฟังความคิดเห็นเมื่อครั้งก่อน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน กรมสรรพากรจึงต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบก่อนเสนอสู่สภาต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายอีบิสซิเนส จะเป็นการเข้าไปเก็บภาษี VAT จากแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ก อาลีบาบา เน็ตฟลิกซ์ อโกด้า เป็นต้น โดยอธิบดีกรมสรรพากร ประเมินว่า หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้กรมเก็บรายได้เพิ่มขึ้นราว 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ.กบช.) และร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 14 ม.ค.-14 ก.พ.นี้

โดยร่าง พ.ร.บ.กบช.นั้น เป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ขึ้นมา เพื่อเป็นการออมภาคบังคับแก่ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบ อายุตั้งแต่ 15-60 ปี ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีเป้าหมายผลักดันให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังเกษียณไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นระดับที่พอเพียงกับการดำรงชีพ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กองทุน กบช.จะให้ลูกจ้างส่งเงินสะสม และนายจ้างต้องสมทบ ฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 1,800 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดเพดานค่าจ้างไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน และทยอยปรับเพิ่มอัตราเงินสะสมและเงินสมทบเป็น 5%, 7% ทั้งนี้ ให้ลูกจ้างและนายจ้างมีสิทธิส่งเข้ากองทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง ตั้งแต่ปีแรกที่เป็นสมาชิกของกองทุน และกรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องนำส่งเข้ากองทุน โดยให้นายจ้างส่งเงินฝ่ายเดียว

ทั้งนี้ เมื่อสมาชิก กบช.อายุครบ 60 ปี จะมีสิทธิเลือกว่าจะรับบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน เป็นเวลา 20 ปี จากกองทุนได้

ส่วนการยกร่างกฎหมายตั้งบอร์ด กบช.ขึ้นมา ซึ่งจะมีคณะกรรมการรวม 13 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น เนื่องจากต้องการลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานด้านระบบบำเหน็จบำนาญที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

“การมี กบช.จะทำให้ระดับเงินออมในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ที่สำคัญเป็นการช่วยเหลือแรงงานในระบบที่มีความเสี่ยงอยู่ในภาวะยากจนในช่วงวัยชรา ให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ และลดภาระงบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว” แหล่งข่าวกล่าว