บาทอ่อนค่าเนื่องจากแรงซื้อ แม้ตลาดมีปริมาณธุรกรรมเบาบาง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 30.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/1) ที่ระดับ 30.38/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากใกล้วันตรุษจีนทำให้ธุรกรรมตลาดเอเชียเบาบาง อย่างไรก็ดี สมาคม National Association of Realtors (NAR) ของสหรัฐ เผยยอดขายบ้านมือสอง (New Home Sales) เดือนธันวาคม ออกมาที่ 5.54 ล้านหลัง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.35 ล้านหลังในเดือนพฤศจิกายน

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวในงานประชุมสุดสภาเศรษฐกิจโลก (The World Economic Forum) ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าเขายังคงต้องการเจรจาเพื่อทำสัญญาการค้ากับสหภาพยุโรป พร้อมทั้งขู่จะขึ้นภาษีกับรถยนต์ที่สหรัฐนำเข้าจากยุโรปในอัตราร้อยละ 25 ถ้าการเจรจาไม่เป็นผล นอกจากนั้นนายทรัมป์ประกาศลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับชนชั้นกลางในสหรัฐ ซึ่งจะมีผลใช้ใน 90 วันข้างหน้า

สำหรับปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทวิ่งอ่อนค่าในช่วงบ่ายวันนี้ (23/1) กว่า 10 สตางค์ โดยคาดว่าบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแรงเข้าซื้อเงินบาทในช่วงที่ตลาดมีธุรกรรมเบาบาง นักวิเคราะห์ยังคงมุมมองต่อเงินบาทว่าจะอ่อนค่าสำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.38-30.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.39/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 1.1186/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/1) ที่ระดับ 1.1090/94 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรทรงตัวเนื่องจากตลาดรอดูแถลงการณ์ของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ที่จะออกมาเวลาประมาณ 19.30 น. (เวลาไทย) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยะ 0.5 และยังคงนโยบายอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นแตะระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการส่งสัญญาณเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นสู่ระดับเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยปรับถ้อยคำของการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ จากเดิมที่กำหนดว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมคืออัตราที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 2 เป็นที่ร้อยละ 2 และให้สัญญาว่าทางธนาคารอาจออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อดันให้อัตราเงินฟ้อถึงเป้าหมาย

นอกจากนั้น นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป จะออกมากล่าวถึงกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปสำหรับปี 2563 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกสำหรับธนาคารกลางยุโรป นับตั้งแต่ปี 2546 โดยนักวิเคราะห์คาดว่านางลาการ์ดจะกล่าวถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อสกุลเงินดิจิทัล และสภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1080-1.1089 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1080/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/1) ที่ระดับ 109.67/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/1) ที่ระดับ 109.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
ยังคงแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 110.00 ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเรื่องโรคปอดอักเสบ (Coronaviruses) ที่ระบาดในทวีปเอเชียตะวันออก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.53-109.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.53/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหภาพยุโรป (23/1), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (23/1), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป (23/1), ดัชนี PMI ญี่ปุ่น เยอรมัน สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (24/1), ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย (24/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.85/1.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.60/+2.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ