ตลท.ปรับเกมสู้ดิสรัปชั่น ลุยขยายฐานรายย่อย

“เราต้องดิสรัปต์ตัวเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาดิสรัปต์เรา” เป็นคำกล่าวของ “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในงานแถลงแผนกลยุทธ์ของ ตลท. ปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-18 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงราย

“ภากร” เปิดเผยว่า บริบทใหม่ของตลาดทุนในอนาคต จะมี 3 หน้าที่หลักได้แก่ 1.การระดมทุน ซึ่งในอดีตถูกมองว่ามีเพียงบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถระดมทุนได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป ตลท.จะเน้นส่งเสริมการระดมทุนของผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ตอัพ (startup) รวมถึงเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนในสกุลเงินต่างประเทศเพื่อหนุนการลงทุนของบริษัทไทยในต่างประเทศ

2.การลงทุน ซึ่งเป็นการดูแลนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะการดูแลนักลงทุนรายย่อย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการซื้อขายหุ้นของโปรแกรมเทรดดิ้ง นอกจากนี้ ตลท.ยังปรับรูปแบบนำเสนอการลงทุนในหุ้นที่เป็นธีม (theme) หรือหุ้นที่มีสตอรี่ (story) เช่น การลงทุนในหุ้นดัชนี SET Well-being (SETWB) เป็นต้น

และ 3.การสร้างสิ่งแวดล้อม (ecosystem) โดยสภาพแวดล้อมของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เนื่องจากปัจจุบันบุคลากร (intermediary) ในตลาดทุนมีความสามารถในการทำกำไรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ที่มีการเติบโตช้าลงที่สุด และได้รับสัดส่วนรายได้จากตลาดทุนน้อยมากที่สุด ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

“เมื่อพิจารณาการลงทุนของ บล.ก็น้อยลงจากในอดีตมาก โดยการลงทุนครั้งสุดท้ายก็ตั้งแต่ปี 2548 หมายความหลังจากนั้น บล.ต่าง ๆ ยังคงใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิม ๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ลงทุนใหม่ตอนนี้กันเองก็อาจจะไม่ทันแล้ว และยากมากที่จะสร้างผลกำไรได้ ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจะต้องมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่หากปล่อยให้ผู้เล่นในตลาดลงทุนเองอาจไม่คุ้มค่า”

“ภากร” บอกว่า แผนงานสำคัญของ ตลท.อีกด้านก็คือ การเพิ่มฐานนักลงทุนรายย่อยให้มากขึ้น โดยปัจจุบันการเพิ่มฐานนักลงทุนรายย่อยค่อนข้างยาก เนื่องจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นเคลื่อนไหวไซด์เวย์ (sideways) ส่งผลให้แนวโน้มการออกจากตลาดทุน (exit rate) ของผู้ลงทุนที่เข้ามายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่าง 30-35% ในปัจจุบัน

สำหรับในปี 2563 ตลท.จะเน้น 4 กลยุทธ์ในการขยายฐานผู้ลงทุน ได้แก่ 1.การสำรวจความต้องการของลูกค้าบุคคลรายใหญ่ (HNW) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ในอดีตไม่เคยสำรวจลูกค้ากลุ่มนี้มาก่อน 2.การโปรโมตร่วมกับ บล.และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีความหลากหลายสามารถสร้างความมั่งคั่งในรูปแบบเฉพาะ (customize) ที่เหมาะกับคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่มีวัตถุประสงค์การลงทุนที่ต่างกันได้

3.การโปรโมตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผ่านสื่อแต่ละรูปแบบ โดยเฉพาะในช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ ที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของคนได้มากขึ้น และ 4.การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อกระจายพอร์ตลงทุน และอำนวยความสะดวกสบายให้นักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนแบบครบและจบที่เดียวได้

นอกจากนี้ ในการจะดึงให้นักลงทุนอยู่ในตลาดนาน ๆ ตลท.เริ่มหันไปเน้นที่การสนับสนุนให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีกองทุนรวม หรือเปิดกองทุนลงทุนที่เป็นระยะยาวมากขึ้นหลังผู้ลงทุนเข้าใจ หรือสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งแล้ว ตลท.จึงจะสามารถทยอยให้ความรู้ หรือเครื่องมือเพื่อการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มเข้าไปให้มากขึ้น

“เรามองว่าปัญหาตรงนี้คงแก้ได้ไม่เร็ว เพราะว่าสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยลดลงเร็ว ดังนั้น จึงต้องหากุญแจที่จะมาช่วยให้ฐานนักลงทุนรายย่อยส่วนนี้ถ่างกว้างมากขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยอยู่ที่ประมาณ 30-35% ใกล้เคียงกับสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ”

สำหรับปัจจัยความเสี่ยงต่อการลงทุนในปัจจุบัน “ภากร” บอกว่า มีทั้งปัจจัยความขัดแย้งทางการค้าในต่างประเทศ และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ทิศทางของธนาคารกลางในแต่ละประเทศ และเรื่องการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งนี้ ประเทศไทยจะต้องพิจารณาผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละบริษัท ซึ่งผลกระทบต่อแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในอนาคต โดยต้องกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

อย่างไรก็ดี “ภากร” กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้เป้าหมายต่อจากนี้ของ ตลท.จะไม่ใช่เป้าหมายระยะสั้นปีต่อปีอีกต่อไป แต่จะเป็นเป้าหมายระยะยาว 3 ปี (2563-2566) โดยยังคงเป้าขยายมูลค่าหลักทรัพย์ (market cap) สู่ระดับ 30 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 150% ของ GDP

“ภายในปี 2566 เราหวังว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันได้ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท และหวังว่าจะมีปริมาณนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-2 แสนบัญชีต่อปี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะยังคงทำตามความตั้งใจเดิมที่จะทำให้ตลาดทุนไทยเป็นของทุกคนตามสโลแกน SET?Make it Work for Everyone” กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวทิ้งท้าย