ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าในท้ายสัปดาห์ หลังสถานการณ์โคโรนายังคงน่ากังวล

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (20/1) ที่ระดับ 30.40/42 บาท/ดดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 30.38/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวแข็งค่าหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหลายตัว เช่น ในคืนวันศุกร์ (17/1) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (Housing Starts) ประจำเดือนธันวาคมได้เพิ่่มขึ้น 16.9% จากระดับ 1.375 ล้านยูนิตในเดือนพฤศจิกายน สู่ระดับ 1.608 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559, มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ (Michigan Consumer Sentiment) เดือนมกราคม ที่ 99.1 ซึ่งทรงตัวจาก 99.3 ในเดือนธันวาคม

นอกจากนั้นสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยผลสำรวจตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่ (JOLTs Job Opening) ประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาอยู่ที่ระดับ 6.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 7.361 ล้านตำแหน่ง และในคืนวันพุธ (22/1) สมาคม National Association of Realtors (NAR) ของสหรัฐ ได้เผยยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 5.54 ล้านหลัง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.35 ล้านหลังในเดือนพฤศจิกายน

แต่ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงได้รับแรงกดดันจากกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ในขั้นวุฒิสภา ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (21/1) ซึ่งจะใช้เวลาในการไต่สวนทั้งสิ้น 6 วัน อย่างไรก็ดี คาดว่าผลการไต่สวนนั้นยังคงไม่มีผกระทบต่อการลงมติของวุฒิสภาเนื่องจากพรรค Republican ซึ่งเป็นพรรคของประธานาธิบดีทรัมป์ ยังคงครองเสียงข้างมากในสภาอยู่ แต่ทั้งนี้อาจจะมีผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังคงมีความวิตกกังวลต่อเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่จากจีนที่ได้ระบาดในหลายพื้นที่ พร้อมกันกับในช่วงสุดสัปดาห์นี้เป็นวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีน จึงคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเชื้อไวรัสนี้จะแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ WHO ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว

สำหรับข้อมูลปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงวันพุธที่ผ่านมา (2/1) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กระทวงพาณิชย์ ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศประจำเดือนธันวาคม 2562 โดยการส่งออกมีมูลค่า 19,154 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงหดตัว 1.28% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัวราว 1.25% ถึง 1.50% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่าคิดเป็นมูลค่า 18,558.5 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัว 2.54% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 595.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนทั้งปี 2562 การส่งออกไทยมีมูลค่า 246,244.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 2.65% เมื่อเทียบกับปี 2561 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,639.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.66% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุ 9,604.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2562 ได้ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน จากผลกระทบขอสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลงอย่างชัดเจน จากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐ เมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งจากความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่่ช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลในอนาคต ทั้งนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.30-30.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 30.50/52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดมที่ระดับ 1.1097/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 1.1126/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี (23/1) ที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.5% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปหรือปรับลดลง จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายของ ECB ที่ระดับ 2.0% ขณะเดียวกัน ECB ย้ำว่าจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดย ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน และ ECB จะดำเนินโครงการ QE เป็นระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็นและจะยุติโครงการ QE ก่อนที่ ECB จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ECB ได้ระบุเพิ่มเติมว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรปนั้นได้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอ่อนแอ แต่มีสัญญาณที่ดีขึ้นเล็กน้อยในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ ECB เริ่มการทบทวนมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมดำเนินการต่อไปให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และในส่วนของค่าเงินปอนด์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังจากรัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศบังคับใช้ร่างกฎหมายขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Withdrawal Areement Bill) หลังผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมไปถึงการลงพระปรมาภิไธยรับรองจากสมเด็พระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มกราคม และเข้าสู่ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ซึ่งมีกำหนดจะสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2020 ก่อนที่จะเริ่มการเจรจารูปแบบความสัมพันธ์ทางกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อในภายหลัง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1035-1.1108 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/1) ที่ระดับ 1.1048/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร


สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (20/1) เปิดตลาดที่ระดับ 110.16/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/1) ที่ระดับ 110.18/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันอังคาร (21/1) สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.1%  พร้อมทั้ง BOJ ได้กล่าวในแถลงการณ์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งทาง BOJ ยืนยันว่าจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากมีความเสี่ยงทางเศรษฐิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีงบประมาณ 2563 ลงเหลือ 1% และคาดการณ์เงินเฟ้อปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ระดับ 1.4% โดย BOJ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของปีงบประมาณ 2563 มาอยู่ที่ระดับ  0.9% ขณะที่ปีงบประมาณปี 2564 เพิ่มเป็น 1.1% จากระดับ 0.7% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 109.25-110.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ  109.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ