อัตราแลกเปลี่ยน โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ คนเดินตรอก

โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

 

ตั้งแต่ต้นปี 2562 มาถึงบัดนี้ ต้นปี 2563 ประเด็นเรื่อง “ค่าเงินบาท” หรือ “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ อีกทั้งเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร และเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ถกเถียงกันว่าควรจะเป็นอย่างไร

พ่อค้านักธุรกิจ ผู้ส่งออก ผู้ผลิต บริษัทห้างร้าน รวมทั้งสมาคมการค้า เช่น หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมใจกันออกมาแสดงให้เห็นความเดือดร้อนว่า การที่เงินบาทแข็งที่สุดในโลกทำให้ขายของสู้ประเทศคู่แข่งและคู่ค้าไม่ได้ เป็นเหตุให้รายได้จากการส่งออกลดลงแทนที่จะเป็นการเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ไม่มีการลงทุน การนำเข้าก็ลดลงมากกว่าการลดลงจากการส่งออกและการท่องเที่ยวสุทธิ ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุล เงินบาทก็ยิ่งแข็งขึ้นอีก ถ้าทางการโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าใจ ผลของการที่ค่าเงินบาทแข็ง ยังคงคิดว่าเป็นผลดีสำหรับการลงทุน เพราะราคาเครื่องจักรนำเข้าคิดเป็นเงินบาทลดลง เป็นความเข้าใจผิด เพราะเมื่อไม่มีการลงทุน การนำเข้าเครื่องจักรแม้จะมีราคาถูกอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์

ตลาดเงินตราต่างประเทศก็มีพฤติกรรมเหมือนกับตลาดสินค้าชนิดหนึ่งที่มีผู้ต้องการซื้อ ซึ่งได้แก่ ผู้บริโภค ผู้ลงทุน ผู้ผลิตสินค้าและบริการที่ต้องการนำเข้าสินค้าที่จะมาขายให้ผู้บริโภคนำเข้าเครื่องจักรเพื่อมาทำการผลิต นำเข้าชิ้นส่วนวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตฝ่ายหนึ่ง กับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ผู้ส่งออกสินค้าและบริการ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ตลาดภายในประเทศไม่เพียงพอกับความสามารถในการผลิต ผู้ส่งออกก็จะรับเงินค่าสินค้าเป็นเงินตราต่างประเทศหรือเงินดอลลาร์เมื่อตนขายสินค้าและบริการ เมื่อผู้นำเข้าต้องการเงินดอลลาร์เพื่อไปซื้อสินค้าต่างประเทศ ผู้ส่งออกสินค้าและบริการต่างประเทศต้องการจะขายเงินดอลลาร์ที่ตนได้รับ ตลาดเงินตราต่างประเทศหรือตลาดเงินดอลลาร์ก็เกิดขึ้น มีการซื้อขาย มีการเสนอ และมีการสนองจากผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขายเงินดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือน ๆ กับตลาดมะม่วง สับปะรด ข้าวเปลือก ข้าวสาร ตลาดเหล็ก หรือตลาดทองคำ จะมีราคาอยู่ระดับหนึ่งที่ทำให้ความต้องการซื้อและความต้องการขายเท่ากัน การซื้อขายก็เกิดขึ้น ถ้าทุกคนในตลาดมีข้อมูลในตลาดสมบูรณ์ จุดนี้บางทีเราก็เรียกว่า “จุดดุลยภาพ” หรือ equilibrium ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เพราะปัจจัยอย่างอื่น เช่น ดิน ฟ้า อากาศ ข่าวลือ รสนิยม หยุดหรือคงที่ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ความต้องการซื้อและขายเปลี่ยนไป ราคาหรือดุลยภาพก็จะเลื่อนไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ ราคาของเงินตราต่างประเทศหรืออัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเช่นนี้ก็จะแกว่งไปแกว่งมา เมื่อความต้องการ ซื้อหรือความต้องการขายเปลี่ยนไป แม้จะเป็นการชั่วคราวก็ตาม เหมือนราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โยงมาถึงผู้ผลิต หากคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องเผื่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

ประเทศต่าง ๆ จึงต้องมีการเก็บเงินตราต่างประเทศหรือเงินดอลลาร์ส่วนหนึ่งไว้เป็น “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” เผื่อว่าเกิดขาดดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัด เวลาขาดดุลการค้าเพราะต้องนำเข้ามากกว่าการส่งออกที่ทำได้ ถ้าปล่อยไปตามกลไกตลาด เงินดอลลาร์ก็จะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท ผู้นำเข้าจะได้เงินบาทมากขึ้นกว่าตอนที่สั่งของชนิดเดียวกัน ผู้ส่งออกเมื่อเอาดอลลาร์มาแตกเป็นเงินบาทก็จะได้เงินบาทน้อยลงกว่าตอนที่ผลิตเพื่อเตรียมส่งออก ผู้ส่งออกก็จะขาดทุน ผู้นำเข้าก็จะได้กำไร กลับกันถ้าเงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศราคาหรือค่าดอลลาร์ก็จะถูกลง ดอลลาร์ก็จะแตกเป็นเงินบาทได้มากขึ้น หรือจะซื้อดอลลาร์ก็จะต้องจ่ายเงินบาทมากขึ้น ถ้าทางการไม่ไปยุ่งเกี่ยว

หากค่าเงินดอลลาร์ผันผวนขึ้นลงตามภาวะตลาดอย่างรวดเร็ว ทั้งจากข่าวลือ รวมทั้งมีผู้มาปั่นตลาด การค้าการลงทุนก็ดำเนินไปได้ยากอย่างที่กล่าว ทางการโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเล็กจึงเข้ามาจัดการเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพพอจะทำมาค้าขายลงทุนผลิตสินค้า ที่สำคัญก็คือ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในเวทีการค้าโลกได้

เนื่องจากการซื้อขายสินค้าและบริการไม่สามารถใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือเพื่อการเก็งกำไรได้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าขาย กิจกรรมทางการเงินระหว่างประเทศต้องทำผ่านเงินดอลลาร์ ราคาเงินดอลลาร์หรืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท เงินริงกิต เงินยูโร เงินปอนด์สเตอร์ลิง จึงมีความสำคัญ

ในโลกทุกวันนี้ ราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค วัตถุดิบ ชิ้นส่วน เครื่องจักร ล้วนถูกกำหนดโดยตลาดโลก รวมทั้งผลตอบแทนต่อการกู้ยืมเงินดอลลาร์ หรือที่เรียกว่าดอกเบี้ย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินดอลลาร์ ความต้องการกู้และความยินดีให้กู้ในตลาดจะถูกกำหนดโดยความต้องการซื้อรวมและความยินดีหรือความสามารถที่จะขายรวมเป็นตัวกำหนด เป็นราคาตลาดโลก ผู้ผลิตก็ดี ผู้ลงทุนก็ดี ผู้บริโภคก็ดี

ก็ต้องขายหรือซื้อตามราคาตลาดโลก ไม่เว้นว่าจะเป็นรายใหญ่ เช่น จีน อเมริกา อินเดีย ยุโรป หรือประเทศเล็ก ๆ อย่างเรา แต่ละรายกลายเป็นผู้รับราคาตลาดโลก หรือ price taker ทั้งสิ้น แต่ทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดราคาตลาดโลกทั้งนั้น ในทุกสินค้าทุกบริการรวมทั้งเงินทุนด้วย ยกเว้นสินค้าหายาก เช่น ขีปนาวุธข้ามทวีป เพชรนิลจินดา นาฬิกาหรูที่ผลิตจำกัด ดาวเทียม เรือใต้น้ำ เป็นต้น

การที่ราคาเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินท้องถิ่นอ่อนไหวขึ้นลงง่าย ส่งผลอย่างมหาศาลต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และในที่สุดกับประเทศชาติเป็นส่วนรวม

ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเก็บเงินดอลลาร์และทองคำไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้เจ้าหนี้และผู้มาค้าขายกับเราเกิดความมั่นใจว่าเรามีเงินดอลลาร์จ่ายหากเกิดความไม่แน่นอนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่ทำให้คนตกใจนำเงินมาแลกหรือกักตุนเงินตราต่างประเทศมาก ๆ

สำหรับค่าเงินนั้น ถ้าค่าเงินสกุลท้องถิ่นแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับ 3-6 เดือนก่อน ผู้ส่งออกก็จะขาดทุน เพราะเมื่อนำเงินดอลลาร์มาแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นก็จะได้เงินบาทน้อยลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ผู้ส่งออกก็จะได้เงินบาทมากขึ้น เมื่อนำรายได้มาแลกก็จะได้กำไรมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

สำหรับประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐบาลเผด็จการทหารที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเรื่อยเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินบาทสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินดอลลาร์ตลอดมา เงินดอลลาร์จึงไหลเข้าประเทศเป็นเหตุให้เงินดอลลาร์ถูกลงเมื่อเทียบกับเงินบาท เท่ากับเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ อัตราการขยายตัวโลกส่วนรวมลดลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นการหดตัว เมื่อเศรษฐกิจหดตัวก็แปลว่าเครื่องมือเครื่องจักรเดินเครื่องเพียง 50-60 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต แล้วเจ้าของหรือนายทุนที่ไหนจะลงทุน เอากำไรสะสมมาเลี้ยงคนงาน ก็ไม่รู้จะพ้นปี 2563 นี้หรือเปล่า เมื่อไม่มีการลงทุน

ที่ผู้ว่าการ ธปท.และอดีตผู้ใหญ่ ธปท.พูดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนที่จะได้นำเครื่องจักรเข้ามาราคาถูก ๆ ก็ไม่จริง เป็นความเข้าใจผิดเพราะเครื่องจักรให้ฟรีก็ไม่แน่ว่ามีคนนำเข้าหรือไม่ มีแต่จะปิดโรงงานแล้วขายเครื่องจักรเลหลังให้เวียดนาม ถ้าเขาเอา พูดกับคนไม่เคยทำธุรกิจแต่นึกว่าตัวเก่ง พูดยาก

ที่ว่าจะได้บีบให้ผู้ประกอบการลงทุนใหม่ ยกระดับเทคโนโลยีขึ้นให้สูง ใคร ๆ ก็อยากทำถ้าทำได้ ถ้าธนาคารยอมให้กู้ เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรในขณะนี้ และผู้ที่ควบคุมการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ก็ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง

ที่แก้ตัวว่าไม่ได้อยู่เฉย ๆ ถ้าดูตัวเลขทุกวันศุกร์ ทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงขึ้นเท่ากับจำนวนดอลลาร์ที่ฝ่ายการธนาคารซื้อจากตลาด ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นตามลำดับ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ซื้อ แต่เมื่อนับจำนวนดอลลาร์ที่เกินดุลจากบัญชีเดินสะพัด ธนาคารแห่งประเทศไทยซื้อไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเงินที่ไหลเข้ามา พูดให้คนงงว่าเงินไหลเข้ามาเพราะ “โครงสร้าง” ไม่แน่ใจคำว่าโครงสร้างที่ว่าคืออะไร พูดให้คนทั่วไปงงเปล่า ๆ

แต่ที่ไม่น่าจะจริง ที่ว่าไม่มีเงินไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน หรือมาเอากำไรจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งของเราสูงกว่าตลาดโลกมานาน และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งขึ้นไปอีก ฟังดูจากการแถลงของธนาคารแห่งประเทศไทยก็หน่อมแน้ม มีประเด็นดังนี้ ประเทศไทยเกินดุลเพราะโครงสร้างคือส่งออกมากกว่านำเข้า หรือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่มีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไร ควรจะบอกด้วยว่าเขากลัวค่าเงินบาทจะลด เขาจะขาดทุนเวลาเอาเงินออก ใน 5 ปีที่ผ่านมา ธปท.ซื้อดอลลาร์ไม่ถึงครึ่งของดอลลาร์ที่ไหลเข้า ไม่ได้บอกว่ากลัวอะไรจึงไม่ซื้อหมด กลัวเงินบาทจะล้นตลาด ถ้าต้องออกพันธบัตรดูดคืนที่อัตราดอกเบี้ยท้องตลาดประมาณ 2.5-5.0 เปอร์เซ็นต์ ก็กลัวขาดทุน ความจริงลดลงอีกก็ได้ ประเด็นสุดท้ายขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายให้รีบลงทุน นำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ ชิ้นส่วน ถ้าขอร้องภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจก็พอได้ แต่รัฐบาลเขาก็นึกว่าไม่มีเงิน ไม่อยากออกพันธบัตรขายประชาชน กลัวถูกโจมตีเพราะตอบไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่ประเทศเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศสุทธิ ยอดหนี้สาธารณะต่ำสุดตั้งแต่มีประเทศไทยมาคือเพียงร้อยละ 40-42 ของรายได้ประชาชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรเสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมาย อนุญาตให้ ธปท.เอาเงินไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศอื่นที่เครดิตต่ำกว่าอเมริกาได้ เพราะยังไม่เคยเห็นว่าพันธบัตรรัฐบาลไหนไม่จ่ายหนี้เมื่อครบกำหนด หรือซื้อหุ้นกู้บริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ๆ แม้ไม่เคยทำก็ควรจะทดลองทำ เมื่อตอนไปเป็นประธานกรรมการเคยเสนอให้แก้กฎหมายให้ ธปท.มีฝ่ายลงทุน เอาเงินออกไปลงทุนเอง แทนที่จะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรเร่งลงทุนโดยออกพันธบัตรในประเทศทั้งหมด แม้จะมีการนำเข้าก็ซื้อดอลลาร์จากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ส่วนการอนุญาตให้ผู้ส่งออกไม่ต้องรีบนำเงินดอลลาร์เข้าประเทศ เอกชนก็ทำอยู่แล้วคือเก็บเงินไว้ต่างประเทศไม่เกิน 180 วัน แต่ไม่ได้ผลอะไรเพราะผู้ส่งออกก็ต้องรีบเอาเงินเข้าเพื่อซื้อวัตถุดิบ ชิ้นส่วน เตรียมผลิตเพื่อส่งออกในงวดต่อไป ไม่มียาอะไรแรงเกินไปหรอกสำหรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่มีการจัดการ manage float ไม่ต้องทำเป็นลับ ๆ ล่อ ๆ ผู้คนรู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร

เสียดายทำทุกอย่างช้าไปหมด