นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย หลังไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดต่อเนื่อง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/1) ที่ระดับ 30.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 30.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงคืนที่ผ่านมา (24/1) เปิดเผยออกมาแข็งแกร่ง ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.1 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 52.7 ในเดือนธันวาคม และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 53.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 51.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ลดลงจากระดับ 52.4 ในเดือนธันวาคม

ในส่วนของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลจึงเริ่มหันเข้าถือสินทรัพญ์ปลอดภัย เนื่องจากเชื้อไวรัสกำลังแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ประกาศในวันนี้ (27/1) ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบทั้งหมดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ล่าสุดได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,804 รายในจีน ส่วนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 80 ราย อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 28-29 มกราคม โดยคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุม หลังจากที่เคยส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.53-30.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (27/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1030/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 1.1034/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบหลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีลงมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม และดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้พร้อมที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมหากเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมาย

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงคืนที่ผ่านมา (24/1) ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน โดยไอเอชเอส มาร์กิต เผยอยู่ระดับ 50.9 ในเดือนมกราคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.2 แต่อย่างไรก็ตามดัชนียังคงอยู่สูงกว่า 50 สะท้อนถึงภาคการผลิตและบริการยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเบื้องต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.8 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.3 ในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของเยอรมนี ได้ขยายตัวสูงระดับ 51.1 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยในระหว่างวันหลังจากตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีหดตัวอยู่ที่ 95.9 จุดในเดือนมกราคม ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 96.3 จุด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1019-1.1037 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1022/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (27/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/1) ที่ระดับ 109.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนมีความวิตกกังวลว่าเชื้อไวรัสโคโรนากำลังแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศ และจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมจึงเข้าถือเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.72-109.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.72-109.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.98/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐเดือนธันวาคม (27/1), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนขอสหรัฐ เดือนธันวาคม (28/1), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนมกราคม (28/1), ดุลการค้าของสหรัฐ เดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีภาคการผลิตของประเทศไทย เดือนธันวาคม (29/1), ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) (30/1), ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษ (BOE) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส  4/2561 (30/1), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (30/1), ดัชนีภาคการผลิตของจีน เดือนมกราคม (31/1), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (31/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนมกราคม (31/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยุ่ที่ -2.0/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.5/+7.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ