“อุตตม” เล็งหั่นเป้าจีดีพีปีนี้ –ชี้มีแผนรับมือปมพ.ร.บ.งบปี’63 ทุกทาง

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อุตตม เล็งหั่นเป้าจีดีพีปี 2563 หลังสารพัดปัจจัยเข้ามากดดัน ชี้ปมพ.ร.บ.งบปี’63 เตรียมแผนรับมือทุกทาง ยืนยันหลังเดือนมี.ค.63 มีเงินใช้จ่าย ไม่กระทบเงินเดือนราชการ ส่วนการลงทุนอยู่ระหว่างศึกษาแนวทาง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2563 นั้น เบื้องต้น จะต้องมีการประเมินว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 3.3% หรือไม่ เนื่องจากหลายอย่างเปลี่ยนไปจากปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากดดัน ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารโลก ก็มีการปรับลดจีดีพีลง ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะมีการประเมินให้อยู่ในภาพของความเป็นจริง เนื่องจากปัจจัยที่กระทบยังมีอยู่ แต่เราก็มีวิธีการที่จะบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ขณะที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่อาจจะออกมาล่าช้า ได้มีการหารือร่วมกันกับสำนักงบประมาณ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องกฎหมายแล้ว เบื้องต้น ได้เตรียมทางเลือกไว้รับมือทุกทาง แม้อนาคตข้างหน้าศาลจะวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ขอออกความเห็น เนื่องจากเป็นการล่วงอำนาจของศาล ขอให้ติดตามศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

“งบเดิมใช้ได้ถึง มี.ค. 63 ถ้ากระบวนการช้ากว่ามี.ค. ก็พร้อมที่จะนำเส้นทางที่เตรียมการไว้ออกมาใช้เพื่อไม่ให้สะดุด ยืนยันว่ามีทางเลือกเพียงพอ หลังเดือนมี.ค. มีเงินออกมาใช้จ่ายแน่นอน เบื้องต้น ค่าใช้จ่ายประจำของสำนักงบประมาณอยู่ในอำนาจของเขาอยู่แล้ว สามารถทำได้ และจะไม่กระทบเรื่องเงินเดือนราชการ” นายอุตตม กล่าว

ส่วนการลงทุน กำลังศึกษาแนวทาง เพื่อให้ได้วิธีการที่เหมาะสม รัดกุม ตามระเบียบ ขณะที่งบผูกพันเดิมที่อยู่ในงบลงทุนปี 2563 ที่มีการเซ็นสัญญาไว้แล้ว จำนวน 6 แสนล้านบาท สามารถใช้ต่อเนื่องได้ แต่งบลงทุนใหม่ยังไม่สามารถทำได้ พร้อมกันนี้ ในเรื่องการเตรียมการของงบประมาณปี 2564 ยังเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม สำนักงบประมาณยังไม่ได้แจ้งปรับเปลี่ยนงบประมาณปี 2564

ลวรณ แสงสนิท

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนใหม่ในปี 2563 นี้ ยังมีความท้าทายจากเรื่องพ.ร.บ.งบปี 2563 ซึ่งอาจจะมีการเบิกจ่ายช้าลง อย่างไรก็ดี ได้มีการเตรียมการในขั้นตอนทีโออาร์แล้ว หากพ.ร.บ.งบปี 2563 ผ่าน ก็สามารถใช้เงินได้เลย ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนของเอกชนด้วยการให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนเครื่องจักรใหม่ได้ 2.5 เท่า และยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับการนำเข้าเครื่องจักร จะเข้ามาช่วยการเดินหน้าในการลงทุนของประเทศได้ หากเงินลงทุนของภาครัฐหายไป