เงินบาทอ่อนค่า กังวลผลกระทบไวรัสโคโรนาต่อการท่องเที่ยว-เบิกจ่ายงบฯล่าช้า

แฟ้มภาพ

เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง หลังนักลงทุนกังวลผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรน่าต่อการท่องเที่ยว รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/1) ที่ระดับ 30.77/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (27/1) ที่ระดับ 30.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงได้รับปัจจัยกดดัน หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีน ซึ่งขณะนี้มีประชาชนจำนวนกว่า 56 ล้านคน ในเกือบ 20 เมืองของประเทศจีน รวมถึงเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาด ได้รับคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกเมือง เพื่อสกัดการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้จึงมีโอกาสส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลง โดยมีการประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2563 จะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 7%

นอกจากนี้ จากกรณีการเสียบบัตรแทนกันในวาระการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร จนต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความ ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีอาจมีการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ได้ โดยคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนที่จะเบิกจ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2563 ราว 4 แสนล้านบาท ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.72-30.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (28/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1020/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/1) ที่ระดับ 1.1022/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบหลังธนาคารยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เช่นเดิม และดำเนินการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง โดยพร้อมที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หากอัตราเงินเฟ้อยังไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1013-1.1025 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1015/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (28/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.90/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/1) ที่ระดับ 108.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินเยนยังคงมีแนวโน้มแข็งค่า หลังนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ากำลังแพร่ระบาดไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก และอาจส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.77-109.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เดือนธันวาคม (28/1), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนมกราคม (28/1) ดุลการค้าของสหรัฐเดือนธันวาคม (29/1), ดัชนีภาคการผลิตของประเทศไทย เดือนธันวาคม (29/1), ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FED) (30/1), ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษ (ฺBOE) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐ ไตรมาส 4/2561 (30/1), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ ผ30/1), ดัชนีภาคการผลิตของจีน เดือนมกราคม (31/1), ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐเดือนธันวาคม (31/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนมกราคม (31/1)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.8/-1.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.55/+7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ