ปัจจัยลบรุมกดดันหุ้นค้าปลีก ภัยแล้งฉุดยอดขาย-งบปี’63ช้า-ไวรัสโคโรน่า เสี่ยง

โบรกฯส่องหุ้นค้าปลีกไม่สดใส “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินแนวโน้มยอดขายสาขาเดิมยังชะลอตัว แถมล่าสุดปัจจัยลบรุมกระหน่ำทั้ง “งบปี’63ล่าช้า-ไวรัสโคโรน่า-ชิม ช้อป ใช้ 4 สะดุด” ชี้ช่องลงทุน “ILM-CPALL-BJC” ฟาก “ยูโอบีฯ” ชี้ “ภัยแล้ง” ทุบกำลังซื้อเกษตรกร หวั่นประมูลซื้อ “เทสโก้” กับกรณี “เซ็นทรัล รีเทล” เข้าเทรดเพิ่มแรงกดดันหุ้นกลุ่มค้าปลีก

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มกำไรหุ้นกลุ่มค้าปลีกในไตรมาส 1/2563 นี้ คาดว่าจะยังทรงตัวเนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องติดต่อกันหลายเดือน สะท้อนว่ายอดขายสาขาเดิม (SSSG) ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มจะออกมาไม่ค่อยดีนัก ขณะที่กำไรในไตรมาส 4/2562 คาดว่าจะเติบโตไม่เกิน 5% เมื่อเทียบกับกำไรในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันมาจาก SSSG ที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงติดลบ โดยมีเพียง บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ที่ SSSG ยังออกมาเป็นบวก

นอกจากนี้ SSSG ของหุ้นในกลุ่มค้าปลีกมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น (ดาวน์ไซด์) เนื่องจากปัจจัยหนุนที่เคยประเมินไว้ ได้แก่ การผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีความเสี่ยงจะล่าช้าออกไปอีกราว 2-3 เดือน ขณะที่การท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวกลับได้ ก็รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า และมาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 4 ที่ยังต้องติดตามความชัดเจนต่อไป

“คาดว่า SSSG ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 จะอยู่ที่ระดับทรงตัวหรือติดลบลงเล็กน้อย ขณะที่แนวโน้ม SSSG ทั้งปี 2563 จากเดิมประมาณว่าจะเติบโตได้ 1.9% ก็คาดว่ามีความเสี่ยงจะเติบโตได้เพียง 1% บวกลบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บล.เอเซีย พลัส ยังไม่ได้ปรับลดคาดการณ์ SSSG ลง และยังติดตามวิวัฒนาการของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่วนกรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่านั้น มองว่ายังไม่กระทบห้างค้าปลีกโดยตรง หรือไม่ได้กระทบต่อการใช้จ่ายผ่านห้างค้าปลีกของประชาชนที่จะน้อยลง ขณะที่สถานการณ์การควบคุมโรคในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้เช่นกัน” นายสุวัฒน์กล่าว

นายสุวัฒน์กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นค้าปลีกปัจจุบันแนะนำ บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM) ผู้ประกอบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านดีมีดาวน์ และการขยายเกณฑ์ LTV ที่เปิดให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกสามารถกู้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ได้อีก 10% ซึ่ง ILM มีส่วนแบ่งตลาดเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 20% นอกจากนี้ แนะนำซื้อหุ้นค้าปลีกที่รายได้ไม่ได้พึ่งพาธุรกิจค้าปลีกเพียงอย่างเดียว เช่น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

ส่วนการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล (CRC) นั้น มองว่าการปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ อาจไม่กระทบต่อการเข้าระดมทุนของ CRC เนื่องจากระยะเวลาการเข้าระดมทุนจะเกิดขึ้นอีกในประมาณ 1 เดือนข้างหน้า ดังนั้นขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของเหตุการณ์ในอนาคต หากปัจจัยลบคลี่คลาย ราคาหุ้นก็จะเคลื่อนไหวสะท้อนกับปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ CRC คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินที่เข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากหุ้น CRC มีขนาดมูลค่าสินทรัพย์ (market cap) ค่อนข้างใหญ่ประมาณ 250,000-270,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้หุ้น CRC ถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SET50 อัตโนมัติ และจะส่งผลให้นักลงทุนสถาบันปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกตัวอื่น ๆ เช่น บมจ.โรบินสัน (ROBINS) บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เป็นต้น

“คาดว่าเงินที่โยกไปลงทุนหุ้น CRC จะกดดันให้ราคาหุ้นค้าปลีกปรับลดลงเหมือนกรณีที่หุ้นไอพีโอของ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” นายสุวัฒน์กล่าว

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มค้าปลีกยังมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการบริโภคที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นผลพวงจากงบประมาณปี 2563 ที่เบิกจ่ายล่าช้า ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบกับผลผลิตทางการเกษตร จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อของเกษตรกร ทำให้เป็นอีกปัจจัยกดดันกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มค้าปลีกมากพอสมควร

ส่วนการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของหุ้น CRC คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นในกลุ่มเดียวกันมากกว่าเชิงบวก แม้ว่านักลงทุนจะมีตัวเลือกลงทุนเพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนสถาบันอาจจำเป็นต้องลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มเดียวกันเพื่อแบ่งสัดส่วนไปลงทุนใน CRC โดยหุ้นค้าปลีกที่มีขนาดเล็กมีความเสี่ยงจะหลุดจากเรดาร์การลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกอาจปรับขึ้นได้ไม่มาก หรือมีความเสี่ยงที่ปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า

“กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก เรายังแนะนำทยอยสะสม CPALL ที่ราคาเป้าหมาย 95.00 บาท โดยเชื่อว่าในช่วงอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ผลกระทบจากผลประกอบการและภัยแล้งน่าจะลดลง ขณะที่ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าประมูลซื้อหุ้นเทสโก้อาจเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาหุ้นปรับขึ้นได้จำกัด” นายกิจพณกล่าว