บังคับใช้แล้ว! เกณฑ์ธุรกิจประกันภัยลงทุนนอก

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

คปภ. ขานรับนโยบายรัฐบาลออกประกาศขยายกรอบการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมุ่งกระตุ้นศักยภาพการแข่งขัน รับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ และค่าเงินบาทแข็ง

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ใช้ศักยภาพของระบบประกันภัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมในการรับมือกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินบาทแข็ง สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศเรื่องการลงทุนฯ โดยได้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. และปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธาน คปภ. ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2563 แล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที

สำหรับการปรับปรุงประกาศดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีการประชุมหารือ กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลอดจนสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย นอกจากนี้ยังมีการรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์จากสำนักงาน คปภ. และร่วมหารือในการประชุมหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงประกาศการลงทุนนี้ ก็เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยไทยและตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยสามารถมีการลงทุนที่หลากหลายสอดคล้องกับลักษณะความเสี่ยงและภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากบริษัทมีการลงทุนเต็มเพดาน จะส่งผลให้สามารถเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่า 1.33 ล้านล้านบาท อันจะเกิดประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เกิดการจ้างงาน อาทิ ในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ สาธารณสุข และเทคโนโลยี รวมทั้งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ดีมากขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม ลดปัญหาการจัดการของภาครัฐ และทำให้ ผู้เอาประกันภัยได้รับผลประโยชน์จากการประกันภัยที่ดีขึ้น อีกทั้งการเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยลงทุน ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการใช้โอกาสในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินบาทที่แข็งค่าให้เป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้นทุนในการลงทุนในต่างประเทศลดลง

โดยประกาศการลงทุนที่มีการแก้ไขปรับปรุงนี้มีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ

ประเด็นแรก เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ จากปัจจุบันอนุญาตให้ธุรกิจประกันภัยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ที่ 15% ของสินทรัพย์ลงทุน ให้ขยายสัดส่วนการลงทุนเป็น 30% ของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุน บรรเทาปัญหาการบริหารสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับหนี้สินและภาระผูกผันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย (Asset-Liability Management) สำหรับธุรกิจประกันชีวิต รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการลงทุนของธุรกิจประกันภัยไทย

ประการที่ 2 เพิ่มประเภทของสินทรัพย์ลงทุน อนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ใบทรัสต์ของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหน่วยของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยขยายสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวจาก 20% เป็น 30% ของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และลดการกระจุกตัวในการลงทุนของธุรกิจประกันภัย

ประการที่ 3 ขยายโอกาสในการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัย โดยอนุญาตให้บริษัทลงทุน
ในตราสารทุนของธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาล โรงพยาบาลหรือกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long-term care) ในประเทศไทย และกำหนดมูลค่าการลงทุนรวมไม่เกิน 10% ของสินทรัพย์ลงทุน ภายใต้วัตถุประสงค์การรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เกิด ecosystem ในอุตสาหกรรมประกันภัยไทย

ประการที่ 4 เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Digital Disruption) ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบในการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย สำนักงาน คปภ. จึงได้เพิ่มทางเลือกให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย โดยมีมูลค่าของการลงทุนไม่เกิน 3% ของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย และอีกนัยหนึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหภาค

และประการที่ 5 ได้ผ่อนปรนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยให้บริษัทดำเนินการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามระดับความมั่นคงของฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย เพื่อให้เกิดความสะดวกและยืดหยุ่นในการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหากบริษัทมีสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่า 250% ผ่อนปรนให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างน้อย 75% หากสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตั้งแต่ 250% แต่ไม่ถึง 380% ให้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 50% และหากสัดส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตั้งแต่ 380% ขึ้นไป บริษัทสามารถบริษัทป้องกันความเสี่ยงจากการอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ให้แจ้งรายละเอียดการป้องกันความเสี่ยงให้นายทะเบียนทราบในรายงานผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่จัดส่งให้นายทะเบียนประจำงวด

“ประกาศฉบับนี้เป็นประกาศที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกาศ คปภ. เรื่องการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนของบริษัทประกันภัย โดยได้ขยายสัดส่วนและเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่อนุญาตให้บริษัทประกันภัยลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามเพื่อมิให้กระทบต่อความมั่นคงทาง การเงินของบริษัท ประกาศการลงทุนยังคงกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องมีการติดตาม ควบคุม ดูแล โดยคำนึงถึงความมั่นคง สถานะทางการเงิน การดำเนินงานของบริษัท รวมถึงหลักธรรมาภิบาลและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม” เลขาธิการ คปภ. กล่าว