ธุรกิจ “จำนำทะเบียน” แห่ขอไลเซนส์-ธปท.ไฟเขียว 27 ราย

แบงก์ชาติไฟเขียวไลเซนส์ “จำนำทะเบียน” แล้ว 27 ราย ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.เผยอยู่ระหว่างรอพิจารณาเพิ่มเติมอีก 46 ราย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุยอดสินเชื่อ/บัญชีโตต่อเนื่อง หลัง แบงก์ชาติต้อนเข้าระบบเมื่อต้นปี’62 “กรุงศรี ออโต้” ชี้ผู้เล่นเพิ่มขึ้นหนุนผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น-ลดพึ่งพาหนี้นอกระบบ ไม่หวั่นภาวะแข่งขัน เหตุให้บริการสินเชื่อยานยนต์ครบวงจรอยู่แล้ว

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจทำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน (จำนำทะเบียน) จำนวนมาก โดยหลัง ธปท.เปิดให้เข้ามาขออนุญาต (ไลเซนส์) ซึ่งเป็นไลเซนส์เดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ล่าสุด ธปท.ได้อนุญาตให้เริ่มประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน หรือคาร์ฟอร์แคชได้แล้ว จำนวน 27 ราย โดยพบว่ามีการเปิดดำเนินการแล้ว จำนวน 19 ราย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคำขออนุญาตเพิ่มเติมอีกจำนวน 46 ราย

“จริง ๆ แล้ว คาร์ฟอร์แคชจะอยู่ภายใต้ไลเซนส์พีโลนอยู่แล้ว โดยบริษัทที่มีไลเซนส์พีโลน ก็อาจจะทำหลายอย่างซ้อน ๆ กันในบริษัทเดียว บางทีก็ทำนาโนไฟแนนซ์ด้วย แต่ในส่วนที่เป็นคาร์ฟอร์แคชที่มาขอไลเซนส์พีโลนที่เป็นรายใหม่เลย ก็มีให้ไลเซนส์ไปแล้ว 27 ราย เปิดดำเนินการแล้ว 19 ราย และมีคำขอที่อยู่ระหว่างพิจารณาอีก 46 ราย” นางธัญญนิตย์กล่าว

ทั้งปีในปี 2562 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจจำนำทะเบียนรถที่มีผู้ประกอบการอยู่กว่า 1,000 ราย และมีผู้ใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนอยู่ราว 3 ล้านราย โดยเปิดให้ทำธุรกิจภายใต้ไลเซนส์พีโลนได้ โดยต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกันในระบบมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติจากการเก็บข้อมูลที่รายงาน ธปท. ตั้งแต่เดือน ก.พ.-พ.ย. 2562 พบว่ามีบัญชีสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกัน ทั้งในส่วนผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) จำนวนทั้งสิ้น 2.58 ล้านบัญชี ณ สิ้น พ.ย. 2562 เพิ่มขึ้นจาก 1.07 ล้านบัญชี ณ สิ้น ก.พ. 2562 หรือเพิ่มขึ้น 141% ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกัน เพิ่มจาก 7.46 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2562 มาอยู่ที่ 1.20 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2562 หรือเพิ่มขึ้น 61%

“ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ธปท.เข้ามากำกับดูแลชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา โดยให้ผู้ประกอบการต้องเข้ามาขึ้นทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบเช่าซื้อ เป็นธุรกิจห้องแถว หรือผู้ประกอบการท้องถิ่นระดับจังหวัด ซึ่งเมื่อทาง ธปท.เข้ามาควบคุม ก็ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ทำจำนำทะเบียน หรือคาร์ฟอร์แคชอยู่ ต้องเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง และต้องส่งรายงานต่อ ธปท.เพื่อเก็บข้อมูล” นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้ามาทำธุรกิจจำนำทะเบียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ บมจ. บัตรกรุงไทย (เคทีซี) ที่ประกาศจะรุกธุรกิจนี้ในปีนี้ เป็นต้น

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการที่มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้เข้ามาจับตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนอย่างเต็มตัว หลังจากได้รับใบอนุญาตจาก ธปท.นั้น จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ สำหรับใช้จ่ายในครัวเรือนและธุรกิจส่วนตัว ซึ่งทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาหนี้นอกระบบจะลดลงตามลำดับ

“สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกรุงศรี ออโต้ เนื่องจากเราให้บริการสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร และมีการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่ออย่างสมดุล” นางกฤติยากล่าว