เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง จับตาสัปดาห์หน้า ผลประชุมกนง.-ไวรัสโคโรนา

แบงก์ชาติ
แฟ้มภาพ

เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยยังถูกกดดันจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาซึ่งยังไม่คลี่คลาย จับตาสัปดาห์หน้าประชุมกนง.(5ก.พ.) ผลประกอบการบจ. การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รวมถึงสถานการณ์หลัง BREXIT

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าลง สอดคล้องกับทิศทางของหลายสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ ขณะที่แรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงใกล้สิ้นเดือนของผู้ประกอบการในประเทศก็เป็นปัจจัยลบของเงินบาทด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (31 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 เดือนที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 30.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ม.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย ผลการประชุม กนง. (5 ก.พ.) และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI/ดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนม.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และรายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนธ.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงมาปิดที่ระดับ 1,514.14 จุด ลดลง 3.53% จากสัปดาห์ก่อน หลังแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 1,507.36 จุดในระหว่างสัปดาห์ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 62,116.33 ล้านบาท ลดลง 2.02% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.29% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 299.57 จุด

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามแรงกดดันจากความกังวลต่อสองปัจจัยหลัก ซึ่งได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งนี้ ดัชนีฯ ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงกลางสัปดาห์ หลังผู้นำจีนแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนมีความสามารถที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายจึงยังส่งผลให้ตลาดปรับตัวลงต่อ อนึ่ง กลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,530 และ 1,540 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (5 ก.พ.) ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบจ. ความคืบหน้าเกี่ยวกับการวินิจฉัยร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงสถานการณ์หลัง BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนม.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือนม.ค. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน รวมถึงกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.ของจีน