“อุตตม” ชงแพ็กเกจอุ้มท่องเที่ยว เข้าครม. 4 ก.พ.นี้

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“อุตตม” จ่อชงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว หักลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการโรงแรม-ธุรกิจเกี่ยวข้อง เข้าครม. 4 ก.พ.นี้ ชี้ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ไม่เข้าครม. เหตุยังไม่ได้ข้อสรุปรูปแบบ พร้อมรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะออกมาตรการมาดูแลภาคการท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลานี้ เนื่องจากขณะนี้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชื้อไวรัสโคโรน่าระบาด เบื้องต้นจะเป็นมาตรการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำเรียนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 4 ก.พ.2563 นี้

“มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น จะกระตุ้นทั้งฝั่งอุปสงค์ ที่ทำให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งจะกระตุ้นในส่วนของอุปทานด้วย เช่น ให้ผู้ประกอบการที่มีความจำเป็น หรืออยากปรับปรุงสถานประกอบการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวก็สามารถทำได้ โดยอาจจะได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย” นายอุตตม กล่าว

ขณะที่มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ผ่านโครงการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 นั้น นายอุตตม กล่าวว่า ยังไม่ได้เสนอเข้าครม. ในวันที่ 4 ก.พ.นี้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณารูปแบบและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหากจะออกโครงการชิมช้อปใช้เฟส 4 นั้น จะต้องออกมาในสถานการณ์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ในภาวะเช่นนี้ กระทรวงการคลังจะต้องมีมาตรการออกมาดูแลเพิ่มเติมแน่นอน

ส่วนกรณีที่หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขอปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน จากปัจจุบันที่จัดเก็บอยู่ที่ลิตรละ 4.726 บาทนั้น เบื้องต้นกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียด จะต้องรอความชัดเจน ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะนำเสนอเข้าครม. วันที่ 4 ก.พ.2563 นี้หรือไม่

สำหรับโครงการชิมช้อปใช้ทั้ง 3 เฟส ถือว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกระทรวงการคลังได้เป็นอย่างดี เนื่องจากช่วงเวลาที่ออกมาตรการนั้น เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย แต่โครงการดังกล่าวได้เข้ามากระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าได้ผลดี เนื่องจากยอดใช้จ่ายผ่ายโครงการนี้มีถึง 2.9 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังสามารถนำโครงการมาต่อยอดโครงข่ายทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ด้วย และยังมีข้อมูลจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการอีก 12 ล้านคน ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อการออกมาตรการมาดูแลประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น