ธปท.ขยาย 3 เกณฑ์ ต้อนคนเข้าคลินิกแก้หนี้ ตั้งเป้าสิ้นปี 63 ยอดลูกหนี้สะสม 8 พันราย

ธปท.เดินหน้าปลดล็อกหลักเกณฑ์คลินิกแก้หนี้เฟส 3 ขยายเจ้าหนี้รายเดียวและหลายราย-ลูกหนี้คดีดำคดีแดง-เป็นหนี้เอ็นพีแอลตั้งแต่ 1 ม.ค.63 คาดสิ้นปีมีลูกหนี้เข้าโครงการเพิ่ม 5 พันราย เผยยอดรวมสะสม 8 พันราย จากปัจจุบันมีสะสม 3.1 พันราย เผยลูกหนี้ผ่อนหนี้เสร็จ 72 ราย ล่าสุดดึงออมสินเข้าโครงการ ลุยแก้หนี้-รีไฟแนนซ์บัตรลูกหนี้ดี

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ขยายขอบเขตคุณสมบัติของลูกหนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 เพื่อให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลของประชาชนได้ทุกลุ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 โดยปลดล็อก 3 หลักเกณฑ์ด้วยกัน ได้แก่

1.หนี้บัตรทั้งเจ้าหนี้หลายรายและรายเดียว จากเดิมที่มีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้นไป

2.เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 63 จากเดิมเป็นหนี้วันที่ 1 มกราคม 2562

3.ลูกหนี้ไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นลูกหนี้คดีดำและคดีแดงที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษา ซึ่งปัจจุบันจากการสำรวจพบว่ามีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้องมีประมาณ 2 แสนราย

นอกจากนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM จะทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ช่วยเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรที่เบ็ดเสร็จ รวมทั้งขยายระยะเวลาผ่อนนานถึง 10 ปี เช่น มีหนี้ 5 หมื่นบาท ผ่อนเฉลี่ย 600 บาทต่อเดือน ซึ่งปกติถ้าไปเจรจากับเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเรียกให้จ่ายคืนภายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น 6 เดือน ทำให้ลูกค้าผ่อนชำระไม่ไหว ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนสมัครถึงลงนามในสัญญาให้สั้น กระชับ หาลูกค้าในจังหวัดมากขึ้น และเปิดบริการวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เพื่อให้โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยธนาคารออมสินถือเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดเข้าร่วมโครงการ โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) รวม 35 แห่ง

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าภายหลังการขยายขอบเขตโครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 3 จะมีลูกหนี้เข้าโครงการสะสมเพิ่มขึ้น 5,000 ราย คาดภายในสิ้นปีจะมีลูกหนี้สะสมอยู่ที่ 8,000 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 3,194 ราย แบ่งเป็น ลูกหนี้เข้าโครงการในปี 2560 อยู่ที่ 560 ราย ปี 2561 อยู่ที่ 527 ราย และในปี 2562 จำนวน 2,1407 ราย ครอบคลุมบัตรเครดิต-กดเงินสด 1.3 หมื่นใบ มีหนี้เฉลี่ย 2.34 แสนบาทต่อราย จำนวนเจ้าหนี้ 3 ราย ยอดผ่อนเฉลี่ย 3,144 บาทต่อราย ระยะเวลาชำระ 91 เดือน อย่างไรก็ดี มีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้เสร็จสิ้นจำนวน 72 ราย หรือคิดเป็น 2.3% ของลูกหนี้ทั้งหมด

“ตัวเลข 3 ปี มีเข้าโครงการประมาณกว่า 3,000 ราย แต่หากดูช่วงที่เริ่มโครงการปีแรกในปี 60 จะมีคนสมัครเข้ามาเยอะกว่า 7 หมื่นราย แต่เนื่องจากกฎเกณฑ์เดิมที่ไม่รวมหนี้ดี ทำให้คนเข้าโครงการได้จริงเพียงเฟสๆ แรกเข้ามา 560 ราย แต่เราเชื่อว่าหลังปลดล็อกเฟส 3 นี้ จะช่วยลูกหนี้เข้าถึงโครงการทุกกลุ่มตัวเลขจะจั้มพ์ขึ้น โดยเราตั้งเป้าลูกหนี้เข้าโครงการปีนี้ 5,000 ราย”

นายโชคชัย คุณาวัฒน์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้เสียบัตร นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เริ่มโครงการรีไฟแนนซ์ (Refinance) หนี้บัตรดีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดีที่เดิมต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง 18% หรือ 28% แต่โครงการนี้จะคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 8.50-10.50% ตามความเสี่ยง

เช่น ผ่อนชำระเดิม 1 หมื่นบาทต่อเดือน จะเหลือเพียง 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งลูกหนี้จะเหลือเงิน 7,500 บาทใช้ในชีวิตประจำวัน หากลูกหนี้ใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวินัยทางการเงิน โดยธนาคารตั้งวงเงินโครงการรีไฟแนนซ์เบื้องต้น 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการฯในระยะที่ 3 จะมีการปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีและช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยมาใช้อำนวยความสะดวกและช่วยตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีขึ้น เราให้ความใส่ใจตั้งแต่การให้คำปรึกษา ขั้นตอนสมัครจนถึงลงนามในสัญญา ขั้นตอนทั้งหมดต้องสั้นกระชับ ไม่เสียเวลาลูกค้ามากจนเกินไป

รวมทั้งจะทำงานเชิงรุกด้วยการเปิดบริการพิเศษในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรองรับลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาที่สำนักงานในช่วงวันทำการปกติ ตลอดจนจะลงพื้นที่ออกไปพบลูกค้าตามสถานประกอบการทั่วประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ โครงการฯระยะที่ 3 จะประสานความร่วมมือกับศาลและกรมบังคับคดีเพื่อหาข้อสรุปในขั้นตอนไกล่เกลี่ย ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย