บิ๊กมูฟ “กสิกรไทย” 2020 รุกภูมิภาคหนักขึ้น ชูดิจิทัลดันกำไร

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเผชิญกับพายุ “ดิสรัปชั่น” ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่แล้ว ภาวะการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้นก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กำลังเข้ามา “ดิสรัปต์” ธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ทำให้ช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ แบงก์จึงต้องปั้น “โมเดลธุรกิจ” ใหม่ ๆ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ 5 ผู้บริหารเพิ่งขึ้นเวที ประกาศ “วิสัยทัศน์ 2563” ไปเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ KBANK กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของแบงก์มุ่ง “เพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจให้ดีที่สุด” ที่ยังยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยขับเคลื่อนธุรกิจบน 8 เส้นทางสู่การยกระดับองค์กร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถใหม่ 8 ด้าน ทั้งการร่วมมือกับพันธมิตร, ปล่อยสินเชื่อบุคคลจากฐานข้อมูลอัจฉริยะ, การจัดการความเสี่ยงเชิงรุก, แสวงหาโอกาสและการเติบโตในระดับภูมิภาค, ใช้ data analytics เป็นหัวใจสร้างโอกาสทางธุรกิจ, ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์, ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะความสามารถ และเพิ่มศักยภาพองค์กรด้วยเทคโนโลยียุคใหม่

รุกภูมิภาคสร้างโอกาสเติบโตใหม่

ทั้งนี้ “ขัตติยา” บอกว่า การจะสู้กับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แบงก์ต้องมองตลาดที่ใหญ่กว่าประเทศไทย เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวเพียง 2.5-3% ต่อปี ดังนั้น KBANK จึงตั้งเป้าหมายการเป็นธนาคารระดับภูมิภาค (regional bank)

“หากแบงก์ต้องการเติบโตจะต้องออกไปหาโอกาสในต่างประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะวางรากฐานในต่างประเทศมาสักระยะ แต่สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศยังมีแค่ 10% ซึ่งคาดว่าในระยะข้างหน้า รายได้ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น”

ขณะที่ “พิพิธ อเนกนิธิ” กรรมการผู้จัดการ KBANK อีกรายเสริมว่า ในปีนี้จะเห็นความคืบหน้าการจัดตั้งสาขาและทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม โดยเฉพาะอินโดนีเซียถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีประชากรกว่า 260 ล้านคน จีดีพีเติบโตเฉลี่ย 5.5% ซึ่ง KBANK ได้เข้าไปถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2560 โดยปีนี้จะรุกอย่างชัดเจนมากขึ้น

“การทำธุรกิจแบงก์ในโลกยุคดิจิทัล ธนาคารไม่จำเป็นต้องมีสาขาจำนวนมาก แต่สามารถทำในรูปแบบดิจิทัลได้ โดยเดินตามหลักเกณฑ์ของผู้กำกับดูแล คือ เข้าไปเปิดสาขา 1 แห่ง แล้วหลังจากนั้นก็ใช้ดิจิทัลเข้าไปขยายธุรกิจแทน”

ด้านเมียนมาก็เป็นอีกโอกาสที่แบงก์จะเข้าไปสร้างการเติบโตใหม่ เพราะเศรษฐกิจเมียนมาเติบโตค่อนข้างสูง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจธนาคารที่มีในประเทศไม่สามารถรองรับความต้องการทางด้านสินเชื่อได้อย่างเพียงพอ ประกอบกับล่าสุดธนาคารกลางเมียนมาได้เปิดให้ใบอนุญาตแก่ธนาคารต่างประเทศ KBANK จึงได้ยื่นขอใบอนุญาตไป ส่วนเวียดนามนั้นแบงก์มีการเข้าไปลงทุนไว้บ้างแล้ว โดยหากทางการเวียดนามเปิดให้ยื่นขอไลเซนส์ได้ ก็พร้อมเข้าไปยื่นทันที

“พิพิธ” กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน KBANK มีเครือข่ายในรูปแบบสำนักผู้แทน สาขา และธนาคารท้องถิ่นรวม 14 แห่งในภูมิภาค และมีธนาคารพันธมิตรในภูมิภาครวม 72 แบงก์ โดยแบงก์ตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ จะสร้างช่องทางบริการของธนาคารใน CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ให้ครบ โดยในจีนจะขยายพอร์ตลูกค้าบุคคล

“เรามองว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะ CCLMVI ซึ่งเป็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจไป ทั้งนี้ เราจะไปบริการลูกค้าโดยไม่จำเป็นต้องสร้างสาขาที่มีการลงทุนหนัก ๆ แต่จะไปบริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น”

K PLUS หัวหอกปล่อยกู้ดิจิทัล

“พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการ KBANK อีกรายกล่าวว่า ในปีนี้แบงก์จะเชื่อมโยงการให้บริการระหว่างธนาคารกับลูกค้าของกลุ่มพันธมิตรที่มีกว่า 1.3 ล้านราย บนแอปพลิเคชั่นเดียว โดยมีแผนเพิ่มศักยภาพการให้บริการบนแอป K PLUS ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัลผ่าน K PLUS เพิ่มเป็น 1.78 แสนล้านบาท จากที่ในปี 2562 ธนาคารได้ทดลองปล่อยสินเชื่อไปได้ 3.6 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ส่วนสาขาคาดว่าจะลดลงปีละ 70-80 แห่ง แต่บางส่วนจะเป็นการย้ายโลเกชั่น ดังนั้นยอดปิดสุทธิจะอยู่ราว 40-50 แห่ง

ลงทุนดิจิทัลเพิ่ม 1.7 หมื่นล้าน

“เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า ในระยะ 3 ปี (ปี 2563-2565) แบงก์ได้ตั้งงบฯลงทุนไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้จะใช้ราว 5,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล และพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้เชื่อมโยงระหว่างกสิกรไทยกับพันธมิตร ซึ่งแบงก์จะ open banking API เชื่อมต่อกับพันธมิตร 50-60 ราย

“การ open banking API เพื่อเชื่อมกับพาร์ตเนอร์ และรองรับเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ K PLUS ที่ 20 ล้านคน (ปัจจุบันอยู่ที่ 12 ล้านคน) ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนธุรกรรมเกิดขึ้นถึง 1.2 หมื่นล้านรายการ โดยเราจะพัฒนาระบบ K PLUS ให้สามารถรองรับจำนวนธุรกรรมที่มียอดสูงสุดให้ได้มากกว่า 3X (3 เท่า)”

ผุด 2 บริษัทใหม่ปั้นรายได้

นอกจากนี้ ธนาคารได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น 2 บริษัท คือ บริษัท “KAITAI TECH” ที่เมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน เป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมบริการข้ามประเทศ และจัดตั้งบริษัท “KASIKORN X” (KX) เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับธนาคารและสร้างฟินเทคยูนิคอร์น บริษัทแรกของไทย

ทั้งหมดนี้ถือได้ว่า เป็น “บิ๊กมูฟ” อีกครั้งของแบงก์สีเขียวเลยทีเดียว ส่วนจะช่วยปั้นการเติบโตใหม่ ๆ ได้อย่างหวังหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป