แบงก์แข่งเพิ่มบริการ “e-KYC” เปิดบัญชีผ่าน “แบงกิ้งเอเย่นต์” แทนสาขาที่ยังมีแนวโน้มปิดตัวต่อเนื่อง “กสิกรไทย” รุกขยายพันธมิตรต่อเนื่อง มีตัวแทนแล้ว 13 ราย ธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ปี”62 โตก้าวกระโดดกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้จ่อปิดสาขาอีก 80 แห่ง ฟาก “ไทยพาณิชย์” เผยมีตัวแทนแล้ว 6 ราย ชิงเปิดระบบ “ยืนยันตัวตน” ผ่าน “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” เร็ว ๆ นี้
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ธนาคารยังขยายการแต่งตั้งตัวแทนธนาคาร (แบงกิ้งเอเย่นต์) ต่อเนื่อง พร้อมกับขยายให้แบงกิ้งเอเย่นต์ ให้บริการลูกค้ายืนยันตัวตน (verify) ได้ ซึ่งจะทำให้การบริการลูกค้าครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และจะรองรับธุรกรรมที่จะมาพร้อมกับโครงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Digital ID) ในอนาคต เช่น การเปิดบัญชีออนไลน์ หรือธุรกรรมประเภทอื่น เป็นต้น
“ตอนนี้เราอยากให้แบงกิ้งเอเย่นต์ช่วยเรายืนยันตัวตนลูกค้าให้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทำงานร่วมกันในการขยายบริการดังกล่าว จะทำให้บริการไปได้เร็วขึ้นในธุรกรรมการเงินที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ เราต้องการให้แบงกิ้งเอเย่นต์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้สอดรับกับสาขาที่ทยอยปิดลงในพื้นที่ที่มีปริมาณธุรกรรมการเงินลดลง แต่ลูกค้ายังสามารถใช้บริการผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ได้ โดยเฉลี่ยในแต่ละปีธนาคารจะมีการปิดสาขาประมาณ 80 แห่ง บางส่วนย้ายไปเปิดในพื้นที่ที่มีปริมาณธุรกรรมการเงินสูงขึ้น ดังนั้น ยอดปิดสาขาสุทธิปีนี้จะอยู่ที่ราว 40-50 แห่ง”
ปัจจุบันกสิกรไทยมีพันธมิตรแบงกิ้งเอเย่นต์ทั้งสิ้น 13 ราย โดยมีจุดให้บริการรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 จุด โดยปี 2561 มีปริมาณธุรกรรม 82,790 รายการ คิดเป็นมูลค่า 594 ล้านบาท และปี 2562 ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 4.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 7-Eleven, ไปรษณีย์ไทย และแฟมิลี่มาร์ท
นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยพาณิชย์ยังคงพิจารณาขยายความร่วมมือกับพันธมิตรแบงกิ้งเอเย่นต์ต่อเนื่อง เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการโดยเฉพาะการทำ e-KYC ขณะที่พันธมิตรที่มีความร่วมมืออยู่แล้ว พบว่ามีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้น เช่น 7-Eleven ที่มีการเติบโตค่อนข้างดี ซึ่งในเร็ว ๆ นี้จะเปิดให้ e-KYC ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้
ด้านสาขาของไทยพาณิชย์ปีนี้ น่าจะทรงตัวที่ 900-1,000 แห่ง อย่างไรก็ดี ธนาคารยังพิจารณาตามพฤติกรรมการใช้บริการเป็นหลัก หากจุดไหนมีปริมาณธุรกรรมน้อยก็อาจจะพิจารณาปิดหรือย้ายไปในจุดที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมากแทนทั้งในตัวเมืองและต่างจังหวัด
นายสีหนาท ล่ำซำ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution and Management ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพาณิชย์มีจุดให้บริการ SCB Service ซึ่งเป็นบริการด้านแบงกิ้งเอเย่นต์กว่า 1.5 แสนจุดทั่วประเทศ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรหลักทั้งสิ้นจำนวน 6 ราย
โดยปริมาณธุรกรรมปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีการฝาก-ถอนเงินผ่าน 7-Eleven ถึง 31,875 ล้านบาท แบ่งเป็นการฝาก 31,776 ล้านบาท และการถอน 99.46 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 185.3 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็นการฝาก 184.8 ล้านบาทต่อวัน และถอน 5 แสนบาทต่อวัน
นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์ธุรกิจรายย่อย และยุทธศาสตร์การตัดสินใจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรหลายรายที่จะมาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งจะต้องให้บริการครบวงจร (full service) สอดคล้องกับสาขาที่ทยอยลดลงไป รวมถึงมีบริการ e-KYC ผ่าน NDID ด้วย
“แบงกิ้งเอเย่นต์จะต้องสามารถทำ e-KYC การเปิดบัญชีออนไลน์และฝากเงินได้ เนื่องจากธนาคารมีสาขาน้อยเมื่อเทียบธนาคารขนาดใหญ่”
ซึ่งโมเดลการดำเนินธุรกิจของซีไอเอ็มบี ไทย ปีนี้มี 3 รูปแบบ คือ 1.สาขาธนาคาร เน้นทำธุรกรรมที่ซับซ้อน และลูกค้าต้องการคำปรึกษาจากพนักงาน เช่น การแนะนำการลงทุน หรือธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) 2.บริการตัวเอง (self-service) ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัลแบงกิ้งหรือโมบายแบงกิ้งได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยตัวเอง และ 3.แบงกิ้งเอเย่นต์