ค่าเงินบาทยืนเหนือ 31.00 หลังผู้ว่า ธปท.กล่าวว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยอีก

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 31.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (5/2) ที่ระดับ 30.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานภาคเอกชนจากเอดีพี (ADP) เดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 291,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นอกจากนั้นสำนักสถิติ HIS Maskit เปิดเผยดัชนีพีเอ็มไอ (PMI) สหรัฐเดือนมกราคม โดยดัชนี PMI โดยรวม (Composite PMI) อยู่ที่ 53.3 และดัชนี PMI ภาคบริการ (Service PMI) อยู่ที่ 53.4 ซึ่งดัชนีทั้งสองออกมาสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขดุลการค้าสหรัฐประจำเดือนธันวาคมออกมาที่ -48,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เพียงเล็กน้อย

สำหรับปัจจัยในประเทศ ช่วงสายวันนี้ (6/2) กระทรวงพาณิชย์ไทยเผยดัชนีอัตราเงินเฟ้อไทย เดือนมกราคม โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.05 จากปีก่อนหน้า ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนธันวาคม และเงินเฟ้อทั่วไป (Core CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 จากปีก่อนหน้า ทรงตัวจากเดือนธันวาคม นอกจากนั้นนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมากล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.00 ว่ายังมีโอกาสที่ ธปท.จะมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคต แม้ว่าระดับดังกล่าวจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดที่อัตราดอกเบี้ยไทยเคยมีมา

อย่างไรก็ตาม นายวิรไทเสริมว่า การลดดอกเบี้ยในการประชุมวานนี้ (5/2) อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ร้อยะ 1.25 ก็ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำอยู่แล้ว และสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพออยู่แล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.02-31.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 1.1095/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/2) ที่ระดับ 1.1027/28 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าเล็กน้อยหลังจากที่วานนี้ (5/2) สำนักสถิติ HIS Markit เผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหภาพยุโรปเดือนมกราคม ดัชนี PMI โดยรวม (Compisite PMI) อยู่ที่ 51.3 และดัชนี PMI ภาคบริการ (Service PMI) อยู่ที่ 52.5 ซึ่งดัชนีทั้งสองออกมาสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังเปิดเผยดัชนียอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยุโรป เดือนธันวาคม ออกมาลดลงร้อยละ 1.6 จากเดือนก่อนหน้าต่ำกว่าระดับที่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1004-1.1097 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1004/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/2) ที่ระดับ 109.83/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (5/2) ที่ระดับ 109.64/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงกังวลกับการแพร่กระจายจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจีนและหลายประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป ทั้งนี้ อัตราผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (6/2) อยุ่ที่ 563 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 28,275 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.80-109.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.84/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐ (6/2), ผลิตภาพนอกภาคการเกษตรสหรัฐไตรมาส 4 ปี 2562 (6/2), จำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ เดือนมกราคม (7/2), อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือนมกราคม (7/2), รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงสหรัฐเดือนมกราคม (7/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.95/-1.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.00/+1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ