ตารางมรณะไทย 2560 กระทบอะไรกับชีวิตเราบ้าง

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน

โดย ทอมมี่ แอคชัวรี

 

 

 

 

ทศวรรษนึงจะมีเปลี่ยนหนนึง… ทราบหรือไม่ครับว่า ในแต่ละประเทศจะมี “ตารางมรณะ” เป็นของตัวเอง โดยตารางมรณะที่ว่านี้ เป็นการเก็บสถิติของคนทั้งประเทศ (ที่ทำประกัน) และหาโอกาสการเสียชีวิตของคนแต่ละอายุ ซึ่งแน่นอนว่า “ถ้ายิ่งอายุมากขึ้น โอกาสการเสียชีวิตก็จะมากขึ้น”

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงคำนวณหาอัตรามรณะแล้วสร้างเป็น “ตารางมรณะ” ขึ้นมา และแบ่งออกตามปัจจัยความเสี่ยง ซึ่งนิยมกันมากที่สุดคือ แบ่งออกตามอายุ (เอาทุกอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่ง 100 ปี) และเพศ (ขอคำนวณแยกแค่ 2 เพศเท่านั้น เพราะเพศที่ 3 หาข้อมูลมาทำสถิติยากครับ)

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยก็มีตารางมรณะตัวใหม่ถือกำเนิดขึ้น เรียกว่า “ตารางมรณะไทย ปี 2560” ซึ่งประกาศให้ใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป โดยสาระสำคัญคือ การยกเลิกตารางมรณะตัวเก่า (ตารางมรณะไทย ปี 2551) และมาใช้ตารางมรณะตัวใหม่นี้แทน

ผมคำนวณอายุขัยเฉลี่ยของคนไทย จะเห็นว่า…จากที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี (ตารางมรณะไทย ปี 2551) ไปอยู่ที่ 74 ปี (ตารางมรณะไทย ปี 2560) แล้ว โดยตารางมรณะตัวใหม่จะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 65-70% ของตัวเก่าเท่านั้น (ปรับลดลงมา 30-35%)

เรามาดูกันว่า ตารางมรณะตัวใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวเก่าอย่างไรบ้าง

1.อัตราการตายของคนแต่ละอายุลดน้อยลง โดยอัตราการตายของคนที่อยู่ในช่วง 20-30 ปีนั้น จะลดลงไปถึง 35%-45%

2.อัตราการตายของคนที่อยู่ในช่วง 31-60 ปีนั้น จะลดลงไปถึง 25%-35%

3.คนที่เลยวัยเกษียณก็มีโอกาสเสียชีวิตน้อยลง โดยเฉพาะช่วง 61-75 ปีนั้น จะพบว่าอัตราการเสียชีวิตลดน้อยลงปีละประมาณ 25%

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เรามาดูตัวอย่างการเปรียบเทียบตารางมรณะไทยปี 2551 กับตารางมรณะไทย ปี 2560 อย่างง่าย ๆ ดังนี้ครับ (ตัวเลขในตารางนั้น ผมปัดเศษให้เป็นตัวเลขประมาณกลม ๆ เพื่อความง่ายและความสะดวกในการจดจำไปใช้งาน)

ตัวอย่างในการอ่านตารางนี้ สำหรับคนอายุ 35 ปี

– ตารางมรณะไทยปี 2551 เพศชาย จำนวน 1,000 คน โอกาสที่คนคนนั้นจะตายภายใน 1 ปี คือ 3 คน (คือ 0.3%)

– ตารางมรณะไทยปี 2551 เพศหญิง จำนวน 1,000 คน โอกาสที่คนคนนั้นจะตายภายใน 1 ปี คือ 1 คน (คือ 0.1%)

– ตารางมรณะไทยปี 2560 เพศชาย จำนวน 1,000 คน โอกาสที่คนคนนั้นจะตายภายใน 1 ปี คือ 2 คน (คือ 0.2%)

– ตารางมรณะไทยปี 2560 เพศหญิง จำนวน 1,000 คน โอกาสที่คนคนนั้นจะตายภายใน 1 ปี คือ 0.6 คน (คือ 0.06%)

– อัตรามรณะของเพศชาย อายุ 35 ปี จะสูงกว่าอัตรามรณะของเพศหญิง อายุ 35 อยู่ประมาณ 3 เท่า

สุดท้ายนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตารางมรณะไทยออกประกาศใช้ในรอบทุก ๆ 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับรอบของช่วงวิกฤตการณ์การเงินที่เชื่อกันว่าทุก ๆ 10 ปีจะเกิดหายนะทางเศรษฐกิจขึ้นมาหนนึง และอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ว่า วิกฤตการณ์การเงินต้มยำกุ้งปี 2540 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับชื่อตารางมรณะไทย ปี 2540 และวิกฤตการณ์การเงินแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551 ก็เกิดขึ้นพร้อมกับชื่อตารางมรณะไทย ปี 2551


ตารางมรณะไทย ปี 2560 อาจจะกำลังบอกใบ้อะไรเราบางอย่าง และมีผลกระทบมากกว่าที่คิดครับ…