ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าจากสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า

ค่าเงินบาท
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 3-7 กุมภาพันธุ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (3/2) ที่ระดับ 31.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 31.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัยจากความกังวลของนักลงทุนในตลาดต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ที่ยังคงมีอยู่

นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวสู่ระดับ 99.8 ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 99.1 โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ ขณะที่รายงานการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2562 รวมทั้งตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานในเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้น 1.8% สูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% และยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันเล็กน้อยจากการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก ซึ่งลดลงสู่ระดับ 42.9 ในเดือนมกราคม ถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2558

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งลงสู่ระดับต่ำกว่า 31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร (4/2) ภายหลังจากที่นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า การส่งออกไนปี 2563 จะกลับมาขยายตัว โดยแม้ว่าการส่งออกล่าสุดในเดือนธันวาคม 2562 จะหดตัว 1.3% แต่หากหักน้ำมันและทองคำออกแล้วจะขยายตัวที่ 1.2% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดีในวันพุธ (5/2) ค่าเงินบาทเริ่มมีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่ผันผวนหลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เสร็จสิ้นลง โดยทาง กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จาก 1.25% เหลือ 1.00% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมากจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ทาง กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

นอกจากนั้นแล้วในวันพฤหัสบดี (6/2) นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังได้ออกมากล่าวเพิ่มเติมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.00% ว่ายังมีโอกาสที่ ธปท.จะมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคต แม้ว่าระดับดังกล่าวจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดที่อัตราดอกเบี้ยไทยเคยมีมา ทั้งนี้นายวิรไทกล่าวเสริมว่า การลดดอกเบี้ยในการประชุมวานนี้ (5/2) อาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ 1.25% ก็ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำอยู่แล้วและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพออยู่แล้ว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.91-31.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (27/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1082/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 1.1026/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากสหราชอาณาจักรได้ถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างเป็นทางการเมื่อวาน 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากการแยกตัวอย่างเป็นทางการจากอียูแล้ว อังกฤษจะเข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้อังกฤษและอียูได้เจรจาในด้านต่าง ๆ นับตั้งแต่ประเด็นการค้าไปจนถึงความมั่นคง

ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อังกฤษจะยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายของอียู เหมือนกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของอียูแต่จะไม่มีสิทธิส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในองค์กรของอียูปัจจุบัน โดยช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวสามารถขยายออกไปเป็นเวลา 2 ปี หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งอังกฤษและอียู

อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษยืนยันว่าอังกฤษจะไม่ขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านหลังจากสิ้นปีนี้ ทั้งนี้การเจรจาครั้งแรกระหว่างสหราชอาณาจักรและยูโรโซนจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ค่าเงินยูโรเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุน รวมถึงการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด

โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซน ขยายตัว 0.1% ในไตรมาส 4 เมื่อเทียบรายไตรมาส ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจฝรั่งเศสและอิตาลี ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศกลุ่มยูโรโซนสำหรับเดือนธันวาคมออกมาหดตัวที่ระดับ 0.7% ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แล้ว รวมทั้งดัชนียอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยุโรป เดือนธันวาคม ออกมาลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0963-1.1095 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 1.0980/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (27/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.55/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/1) ที่ระดับ 108.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการเข้าถือเงินเยนในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัยจากความกังวลของนักลงทุนว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ากำลังแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศ และจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ก่อนที่ค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ภายหลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลลง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108.30-110.02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 109.9093 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ