กดปุ่มเปิดบัญชีออนไลน์ ธปท.หนุน “แบงกิ้ง” ยุคใหม่

การให้บริการของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย กำลังจะก้าวไปสู่มิติใหม่ ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนามากขึ้น

โดยล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กดปุ่มให้ธนาคารพาณิชย์ 6 ราย เริ่มทดสอบให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากผ่านช่องทางดิจิทัล โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์มเนชั่นแนลดิจิทัลไอดี (NDID) ในวงจำกัด ภายใต้ regulatory sandbox ของ ธปท. เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ทดสอบการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (biometrics) ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าสำหรับการเปิดบัญชีเพื่อยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้าของตน (KYC) ไป

“สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า การทดสอบนี้ใช้กับการเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบริการแรก เพื่อรองรับการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

“ปัจจุบันมีสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินรวม 13 ราย ที่ขอเข้าทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม NDID ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า เพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ซึ่งจะมี 6 แบงก์ที่เข้าทดสอบ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้นธนาคารกรุงไทยจะเข้าทดสอบในวันที่ 14 ก.พ.นี้ และที่เหลือซึ่งเป็นผู้ให้บริการชำระเงินจะเข้าทดสอบต่อไป”

โดยจากนี้ทั้ง 6 แบงก์ จะเริ่มให้บริการในวงจำกัด “ตามช่วงเวลาและช่องทาง” ที่แต่ละธนาคารกำหนด ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงเทพ ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝาก ช่วงเวลา 07.00-22.00 น. ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น “Bualuang mBanking” โดยสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง 2.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝาก ช่วงเวลา 06.00-21.00 น. ผ่านแอป “KMA” โดยสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปได้ 24 ชั่วโมง

3.ธนาคารกสิกรไทย ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝากและยืนยันตัวตนผ่านแอป “K-Plus” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 4.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝาก ช่วงเวลา 07.30-20.00 น. ผ่านแอป “CIMB TH Digital Banking” โดยสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปได้ 24 ชั่วโมง

5.ธนาคารทหารไทย ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝาก ช่วงเวลา 06.00-22.00 น. ผ่านแอป “ME by TMB” โดยสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปได้ 24 ชั่วโมง และธนาคารไทยพาณิชย์ ให้บริการขอเปิดบัญชีเงินฝาก และยืนยันตัวตนผ่านแอปได้ในช่วง 07.00-22.30 น.

“สิริธิดา” บอกว่า ธปท.หวังว่า หากแบงก์มีความพร้อม จะสามารถเปิดให้บริการในวงกว้างได้ภายในปี 2563 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนจะเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ได้รับความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางมาแสดงตนที่สาขา ลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดต้นทุนเอกสารและขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบจาก 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 20 นาที ทั้งนี้ การทดสอบรอบนี้นับเป็นเฟสที่ 2 โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และภายในไตรมาส 2-3 จะขยายการเปิดรับการทดสอบไปสู่ผู้ให้บริการนอกภาคธนาคาร เช่น กองทุนรวม หลักทรัพย์ ประกันชีวิต และประกันภัย เป็นต้น

“เราพยายามให้กระบวนการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยระยะเวลาการทดสอบ ขึ้นกับความพร้อมของทั้งผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ และผู้ยืนยันตัวตน โดยจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูล และการแก้ปัญหาของลูกค้า เพื่อให้กระบวนการราบรื่นไม่สะดุด”

ทั้งนี้ ธปท.จะมีการประเมินผลการให้บริการอย่างใกล้ชิด ก่อนเปิดให้ใช้บริการในวงกว้างต่อไป