บาทเคลื่อนไหวในกรอบ ก่อนประธานเฟดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปี

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/2) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 31.29/31 บาท/ดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่าในช่วงคืนที่ผ่านมาหลังตัวเลขเศรษฐกิจเผยออกมาแข็งแกร่งโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในคืนวันศุกร์ (7/2) การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 225,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 145,000 ตำแหน่ง ตัวเลขการจ้างงานนี้ยังคงสอดคล้องกับผลสำรวจการจ้างงานภาคเอกชนที่ขยายตัวในวันพุธที่ผ่านมา (5/2) เช่นกัน ในส่วนของรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงขยายตัว 0.2% อย่างไรก็ดีอัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% ยังคงสูงกว่าช่วงเดือนธันวาคมที่ขยายตัว 3.5%

ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าในช่วงเช้าหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย นายแพทริค ฮาร์เคอร์ ได้กล่าวปราศรัยในคืนวันจันทร์ (10/2) ว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ตอนนี้อยู่ในภาวะที่ดี และธนาคารกลางควรจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50-1.57% ต่อไปในช่วงนี้ โดยเขาคาดว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มที่จะบรรลุตามเป้าหมาย 2% ที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาด โดยเขาระบุว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะประเมินความเสี่ยงของเชื้อไวรัสที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ถ้าหากสถานการณ์เลวร้ายลงอย่างมากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงจำเป็นต้องพิจารณาการผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงติดตาม คำกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีขอนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (11/2) และจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันพุธ (12/2) โดยนักลงทุนรอการส่งสัญญาณเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจเป้าหมายเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ในปีนี้ว่าจะมีการผ่อนคลายเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐอีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.15-31.32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (11/2) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0913/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 1.0956/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอในยูโรโซน โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเปิดเผยในวันศุกร์ (7/2) หดตัวลง 3.5% หดตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีในเดือนธันวาคม ในส่วนของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในอิตาลีเปิดเผยในวันจันทร์ (10/2) ก็หดตัวเช่นกันโดยอยู่ที่ -2.7% ในเดือนธันวาคม

ตัวเลขเศรษฐกิจทั้ง 2 ตัวนี้สะท้อนถึงภาวะชะลอตัวของภาคการผลิตที่จะส่งผลให้การขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจยูโรโซน ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าดัชนีผลผลิตมวลรวมในยูโรโซนที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ (14/2) ไตรมาส 4/62 จะเผยออกมาหดตัวเช่นกัน ประกอบกับยูโรโซนยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนีอีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0904-1.0917 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0909/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (11/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.83/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/2) ที่ระดับ 109.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดการเงินปิดทำการเนื่องในวันที่ระลึกการตั้งประเทศ

ขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1,018 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชืัอไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ 43,102 ราย โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.73-109.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.85/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จาก JOLTs เดือนธันวาคม (11/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนมกราคม (13/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนมกราคม (13/2), จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี เดือนมกราคม (13/2), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนี (14/2), ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนมกราคม (14/2), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ (14/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้ 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.5/+2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ