สรรพสามิตชี้ 4 กลุ่มภาษีเพิ่ม เกรย์มาร์เก็ตอ่วม ต้นทุนนำเข้าพุ่ง 2 เด้ง

สรรพสามิตชี้ 4 กลุ่มเสียภาษีเพิ่ม ดันรายได้เข้ารัฐเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน มีทั้ง “เกรย์มาร์เก็ต-สินค้าฟรีโซน-สุรา-ยาสูบ” ตีกรอบเกรย์มาร์เก็ตห้ามสำแดงราคาขายต่ำกว่าดีลเลอร์เกิน 15% ด้านผู้ประกอบการโวยอ่วม 2 เด้ง ปรับฐานภาษีดันต้นทุนเพิ่ม 20% แถมคำสั่ง 317 กรมศุลฯหนักกว่าต้นทุนพุ่งเท่าตัว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับภาษีสรรพสามิตที่มีผลตั้งแต่ 16 ก.ย.กรมจะมีรายได้เพิ่ม 1.2 หมื่นล้านบาท มาจาก 1.สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์ในเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) 2.รถยนต์นำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระ (เกรย์มาร์เก็ต) 3.ยาสูบ ที่ปรับฐานเป็นราคาขายปลีกแนะนำและ 4.สุราปรับขึ้นบางส่วน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตต่าง ๆ อาทิ ใบอนุญาตตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ฉบับละ 6 หมื่นบาทที่กฎหมายเดิมไม่มีกำหนด ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีเป็นลักษณะจำเพาะละ 3,000 บาท จากเดิมเก็บแค่ 1,000 บาท เป็นต้น

“รายได้ที่เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท ไม่ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะเพิ่มจากฐาน 5 แสนล้านบาทหรือ 1-2%”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนเกรย์มาร์เก็ตนั้น กรมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งราคาขายปลีกที่สอดคล้องกับความเป็นจริง หากผู้ประกอบการรายใดสำแดงราคาถูกต้องอยู่แล้วจะได้รับผลกระทบน้อย แต่รายที่สำแดงราคาต่ำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น

“คำว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือกรณีนำเข้ารถยนต์ทางกรมจะมีค่าฐานนิยมกำหนดไว้ ถ้าหาค่าฐานนิยมไม่ได้ก็ต้องเทียบเคียงกับตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (Authorized Dealer) ซึ่งไม่เกิน 15% ถ้าเกินก็ต้องถูกประเมินภาษีเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้แจ้งราคาต่ำ” แหล่งข่าวกล่าว

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบการปรับวิธีจัดเก็บภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ น่าจะทำให้ต้นทุนรถนำเข้าขยับเพิ่ม 10-20% แต่เมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตาม หลักการทำธุรกิจเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้าก็ต้องผกผันตามไปด้วย

“เราคงไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงซิกแซกเพื่อทำให้ราคาสินค้าต่ำลง เพราะรัฐก็ประเมินต้นทุนรถนำเข้าที่จะสูงขึ้นไว้เช่นเดียวกัน ซึ่งคนทำการค้าก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด”

ทั้งนี้ ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการรถนำเข้ารับได้ แต่มีคำสั่งศุลกากรบางคำสั่งที่ทำให้ผู้นำเข้าตั้งตัวไม่ทันและอยากให้รัฐบาลทบทวน คือคำสั่ง กค.0521 (ส)/ร2196 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2560 เรื่อง การประเมินราคารถยนต์สำเร็จรูป 4 ยี่ห้อ คือ เฟอร์รารี่, มาเซราติ, ลัมโบร์กินี และปอร์เช่ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเท่าตัว

“เดิมการคำนวณราคาประเมินจะนำราคาขายจากหน้าเว็บไซต์ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วนำมาหักจากค่าการตลาดหรือส่วนลดที่กรมศุลฯ จัดให้ตามคำสั่งศุลกากรที่ 317 ตัวอย่าง ปอร์เช่ เดิมหักค่าการตลาดอัตรา 43.46% แต่ล่าสุดเหลือ 5.94% ทำให้ราคาประเมินที่จะนำมาคำนวณภาษีมีค่าสูงกว่าเดิม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจของผู้นำเข้ารถยนต์อิสระรายย่อยเป็นอย่างมาก ตรงนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้นำเข้าต้องฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้กรมศุลฯ ระงับการใช้คำสั่งนี้ชั่วคราว แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะศาลไม่รับ ซึ่งขั้นตอนคงต้องพิจารณาว่าจะอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เรื่องนี้กระทบต่อการทำธุรกิจมากถึงขั้นต้องปิดหรือเลิกกิจการกันเลยทีเดียว” นายสมศักดิ์กล่าว

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการ สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 800 ราย จดทะเบียนแจ้งโครงสร้างราคาขายปลีกกับกรมแล้ว กว่า 200 รายเป็นผู้นำเข้า ซึ่งไม่พบปัญหาจากการใช้ฐานราคาภาษีสรรพสามิตใหม ส่วนสินค้านำเข้าก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะกรมทำฐานข้อมูล และประสานกับกรมศุลกากรมาตลอด

“กระบวนการนำเข้าสินค้าจะไม่เกิดการล่าช้า เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยของมาตั้งแต่วันที่ 16-17 ก.ย.แล้ว และไม่มีปัญหาอะไร” นายณัฐกรกล่าว

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ได้ตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (วอร์รูม) เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาการผ่านพิธีการศุลกากรของผู้ประกอบการ รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะแรก หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งมีผู้นำเข้าสอบถามกันมากเกี่ยวกับพิกัดอัตราภาษีของสินค้าสรรพสามิต แต่การนำเข้าก็เรียบร้อยดี