“คลินิกแก้หนี้”แป้ก ธปท.รื้อเกณฑ์ใหม่

ธปท.เร่งหารือ SAM ปรับเงื่อนไขโครงการ “คลินิกแก้หนี้” หลังลูกหนี้เข้าโครงการต่ำเป้า เร่งแก้กฎหมายเปิดทางให้ “” เข้าร่วม พร้อมปรับแก้คุณสมบัติลูกหนี้ วงในเผยพิจารณาผ่อนเกณฑ์ให้ “อาชีพอิสระ” เข้าร่วม เปิดให้กลุ่ม “เอ็นพีแอลใหม่” เพื่อช่วยลดหนี้เสียในระบบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ ที่เริ่มโครงการไปเมื่อ 1 มิ.ย. 2560 ว่า ขณะนี้ ธปท.มีการติดตามความคืบหน้าการแก้หนี้ผ่านโครงการแก้หนี้อยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) ในฐานะผู้บริหารคลินิกแก้หนี้ ว่าจะสามารถปรับเกณฑ์ หรือเงื่อนไขใด ๆ ได้บ้างเพื่อให้การแก้หนี้มีประสิทธิภาพ และลูกหนี้สามารถเข้าโครงการเพิ่มได้ต้องยอมรับว่า คลินิกแก้หนี้ถือเป็นโครงการนำร่องที่ ธปท.ทำขึ้นมา ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่ ไม่มีในประเทศไทยมาก่อน ดังนั้นก็มีบางที่อาจเจอปัญหาบ้าง ต้องค่อย ๆ ปรับแก้เพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้

“ปัญหาสำคัญ คือ หนี้ครัวเรือน ขณะนี้อยู่กับผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ (น็อนแบงก์) เยอะ ดังนั้นก็ต้องเอาหนี้เหล่านี้เข้ามาแก้ ซึ่งล่าสุด SAM ก็อยู่ระหว่างการแก้กฎหมาย พ.ร.ก.บริษัท พ.ศ. 2541 เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจ ให้บริษัทสามารถรับซื้อหนี้ รับโอนหนี้ จากน็อนแบงก์ได้ด้วย จากเดิมที่ทำได้เพียงสถาบันการเงินเท่านั้น เราก็หวังว่าปีนี้อาจเห็นการออกกฎหมายให้สามารถนำน็อนแบงก์เข้ามาได้” นายวิรไทกล่าว

 

ขณะที่ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ประธานกรรมการ บสส. กล่าวว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีลูกหนี้เข้าโครงการค่อนข้างน้อย แค่หลักร้อยเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าที่ประเมินไว้ค่อนข้างมาก เพราะลูกหนี้ติดเกณฑ์ หรือเงื่อนไขบางประการ ทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการได้ ดังนั้นเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้ บริษัทก็ต้องขอไปยัง ธปท. เพื่อขอปรับเงื่อนไข หลักเกณฑ์ เพื่อเอื้อให้ลูกหนี้เข้ามาได้มากขึ้น ส่วนจะแก้เกณฑ์ด้านไหนบ้าง ยังไม่สามารถบอกได้

“เหตุผลที่ลูกหนี้ยังไม่สามารถเข้าโครงการได้ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นลูกหนี้ของน็อนแบงก์ ทั้งยังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมาก เราก็เอาสิ่งเหล่านี้ไปเจรจาขอปรับเงื่อนไขกับ ธปท. เพื่อให้ช่วยเร่งสปีดโครงการ และทำให้เอ็นพีแอลออกจากบุ๊กของธนาคารเร็วที่สุด ก็ถือเป็นการช่วยธนาคารด้วย ดีกว่าที่แบงก์ต้องทำเอง ตอนนี้ยอดยังต่ำเป้ามาก และปีนี้ก็คงพลาดเป้าที่เราตั้งไว้ราว 2,000 คน ซึ่งต้องหารือกับคณะทำงานว่า ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ปัญหาอยู่ที่ SAM เอง หรือลูกหนี้มีปัญหาเอง ก็ต้องมาคุยกันใหม่” นางผ่องเพ็ญกล่าว

สำหรับการผ่อนเกณฑ์จะเป็นการลดดอกเบี้ย เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้เข้าโครงการหรือไม่นั้น นางผ่องเพ็ญกล่าวว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยที่ให้สำหรับลูกหนี้ที่เข้าโครงการที่ 4% ถือว่าต่ำและเหมาะสมแล้ว

แหล่งข่าวแวดวงการเงินกล่าวว่า หากดูยอดการยื่นขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ณ สิ้นเดือน ส.ค. พบว่าลูกหนี้ที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าโครงการยังอยู่ที่ราว 300 ราย โดยพบว่ามีลูกหนี้สนใจเข้ามาสอบถามข้อมูล ประมาณ 20,359 ราย แต่ทั้งหมดมีลูกหนี้ที่ผ่านคุณสมบัติเพียง 4,010 ราย หรือประมาณ 20% ส่วนที่ไม่เข้าคุณสมบัติพบว่า ประมาณ 38% ไม่ได้เป็นเอ็นพีแอล 20% เป็นหนี้น็อนแบงก์ 8% เป็นหนี้แค่ 1 สถาบันการเงินเท่านั้น โดยยอดแก้หนี้รวมที่ได้รับอนุมัติเข้าโครงการอยู่ที่ 47 ล้านบาท

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับคุณสมบัติและเงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการ เช่น การขยายกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้ประจำ ให้สามารถเข้าโครงการแก้หนี้ได้ จากเดิมที่เปิดให้เฉพาะลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำเท่านั้น เพราะกลุ่มนี้เดิมอาจเป็นพนักงานประจำ แต่สถานะปัจจุบันไม่ได้ทำงานประจำ ทำให้ไม่สามารถเข้าโครงการได้ ซึ่งสัดส่วนลูกหนี้กลุ่มนี้มีค่อนข้างมาก ดังนั้นหากผ่อนเกณฑ์นี้ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้การแก้หนี้เสียทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เดิมที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเอ็นพีแอลก่อน 1 พ.ค. 2560 อาจปรับแก้เป็นถึง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2560 เพื่อให้ลูกหนี้เอ็นพีแอลใหม่ ๆ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย รวมถึงผ่อนคลายเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดสัดส่วนการชำระหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถการชำระหนี้มากขึ้น