“ไทยยูเนี่ยน” ยอดขายปี’62 ฮวบกว่า 5% จากเอฟเฟ็กต์เงินบาทแข็งค่า

“ไทยยูเนี่ยน” โชว์ผลประกอบการปี’62 กำไรขั้นต้นทะลุ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิกว่า 3.8 พันล้านบาท หลังหักรายการพิเศษ  เคาะจ่ายปันผลหุ้นละ 0.47 บาท ชี้เอฟเฟ็กต์เงินบาทแข็งค่าทำยอดขายฮวบกว่า 5%

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการประจำปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ 5,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  โดยรายงานกำไรสุทธิภายหลังจากหักรายพิเศษอยู่ที่ 3,816 ล้านบาท ซึ่งความสามารถในการทำกำไรเข้มแข็งขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นเติบโต 6.4%คิดเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมและค่าจัดจำหน่าย ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท  เพิ่มขึ้นถึง 9.2% เมื่อเทียบกับปี 2561 สะท้อนถึงการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยด้านความสามารถในการทำกำไร อีกทั้งการลงทุนและบริษัทในเครือมีผลงานดีขึ้นสม่ำเสมอ  ยอดขายลดลง 5.3% อยู่ที่ระดับ 126,270 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

โดยในปี 2562 ปริมาณการขายเติบโต 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2561 เป็นผลจากธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่มีปริมาณการขายเติบโตขึ้น 12.8% และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามีปริมาณการขายเติบโตขึ้น 3.2%   กำไรจากการดำเนินงานในปี 2562 เติบโตขึ้นถึง 20.8%  อยู่ที่ 5,642 ล้านบาท  สำหรับสัดส่วนของยอดขายตามภูมิภาค ยอดขายจากทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนถึง 41% ยอดขายจากทวีปยุโรป 28% ยอดขายจากประเทศไทย 12%  และตลาดอื่นๆ ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ 18%

“ไทยยูเนี่ยนยังคงมุ่งมั่นในการทำกำไรจากทั้งการดำเนินงานของธุรกิจหลัก  ธุรกิจเพิ่มมูลค่าใหม่ๆ และการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่มีอยู่   เราภูมิใจกับผลงานและความเติบโตของบริษัทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ผมมั่นใจว่าไทยยูเนี่ยนจะก้าวต่อไปในทศวรรษใหม่นี้ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล อีกทั้งยังลงทุนต่อเนื่องในด้านนวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลก และสานต่อพันธกิจในการสร้าง “สุขภาพที่ดี และท้องทะเลที่สมบูรณ์” ต่อไป” นายธีรพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2562  อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนลดลงอยู่ที่ระดับ 1.07 เท่า ลดลงจาก 1.40 เท่าในปี 2561  อันเป็นผลจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายทุนมูลค่า 6 พันล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับการลดหนี้สินจากกระแสเงินสดอิสระจำนวน 3 พันล้านบาท

สำหรับปี 2562 ไทยยูเนี่ยนจะปันผล 0.47 บาทต่อหุ้น กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับปี 2561  โดยในปี 2562 ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.25 บาทต่อหุ้น

นายธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า นวัตกรรมยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการเติบโตของไทยยูเนี่ยนในอนาคต บริษัทจึงมุ่งมั่นนำเทคโนโลยีล่าสุดมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค  ในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้เปิดศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีนักวิจัยกว่า 120 ชีวิต และในจำนวนนี้มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกจากทั่วโลกมากกว่า 40 ท่าน ซึ่งเชี่ยวชาญในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล วิศวกรรม ยา อาหาร และสารอาหาร

นอกจากนี้ ในปี 2562 ไทยยูเนี่ยนยังได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งโครงการสเปซ-เอฟ โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหาร เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมใหักับอุตสาหกรรม โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้จัดงานพบปะนักลงทุนให้กับ 23 สตาร์ทอัพจาก 6 ประเทศได้แก่ เยอรมัน อินเดีย นอร์เวย์ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย   และในไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีการจัดแสดงผลงานหรือ Demo Day ในวันที 5 มีนาคม นี้อีกด้วย

“ไทยยูเนี่ยนดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และในปีที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้รับเลือกเป็นบริษัทอันดับ 1 ของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในดัชนี SEAFOOD STEWARDSHIP INDEX ปีแรก ตอบโจทย์การทำงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ” นายธีรพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จับมือกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เผยแพร่รายงานความโปร่งใสในการจัดหาวัตถุดิบ เรื่องการจับปลาและสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกแบบธรรมชาติ  นอกจากนี้มีความร่วมมือกับบริษัทคาลิสตา ผู้ผลิตอาหารสัตว์โปรตีนทางเลือก เปิดตัวกุ้งที่เลี้ยงด้วยโปรตีนที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงกุ้ง  ไทยยูเนี่ยนยังได้ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม SeaBOS (Seafood Business for Ocean Stewardship) ประจำปี 2562 โดยมีนักวิทยาศาสตร์และ 10 บริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกมาร่วมกันเพื่อเพิ่มการผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและปกป้องมหาสมุทร