ชิงเค้กจำนำทะเบียน 4 แสนล้าน “แบงก์-ทุนท้องถิ่น” ดาหน้าลงสมรภูมิแข่ง

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล

ธุรกิจจำนำทะเบียนคึกคัก “แบงก์-ผู้ประกอบการท้องถิ่น” โดดชิงเค้กปล่อยกู้ “นายกสมาคมสินเชื่อทะเบียนรถ” ประเมินมูลค่าปล่อยกู้ในตลาดรวมสูงถึง 4 แสนล้านบาท “ธนาคารเกียรตินาคิน” เริ่มออกโปรดักต์ทำตลาดปีนี้ ฟากแบงก์ชาติอัพเดตล่าสุดแจกใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนำทะเบียนรถแล้ว 38 ราย ฟากคลังไฟเขียวไลเซนส์ “พิโกไฟแนนซ์” ไปแล้วกว่า 800 ราย

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดจำนำทะเบียนรถในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้เล่นในตลาดมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงธนาคารที่มีเข้ามาทดลองตลาดกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเริ่มอิ่มตัว จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐมองว่าตลาดรายย่อยมีความต้องการสินเชื่อประเภทนี้มากกว่ากลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่เน้นสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทำให้ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายเข้ามากำกับดูแลอย่างชัดเจนมากขึ้น

จึงเห็นภาพการขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในตลาดมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ขณะที่คนในธุรกิจมองว่า ตลาดจำนำทะเบียนรถมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท สูงกว่าที่ทางการประเมินว่ามีมูลค่า 2 แสนล้านบาทถึง 1 เท่าตัว

อย่างไรก็ดี การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจอาจจะมาจากผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งทำธุรกิจอยู่แล้วแต่ต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎระเบียบทางการ และบางส่วนจะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาทดลองตลาดนี้ รวมถึงบางส่วนที่มีใบอนุญาตทับซ้อนกับสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งจะแตกต่างกันด้วยทุนจดทะเบียนและวงเงินการปล่อยสินเชื่อ

“แม้ว่าจำนวนผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าการทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะระบบการคำนวณอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากเดิม ผู้ประกอบการจะใช้อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (fixed rate) แต่ภายใต้การกำกับ กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (effective rate) เพดานอยู่ที่ 28% รวมถึงการเริ่มสร้างสาขาและทยอยขยายเครือข่าย ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว” นายปิยะศักดิ์กล่าว

“ด้านการแข่งขัน หากเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นจะมีจุดแข็งในเรื่องความชำนาญในกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นหรือชุมชน ขณะที่ผู้ประกอบการสถาบันการเงินจะได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า ซึ่งจะเน้นแข่งขันทางด้านอัตราดอกเบี้ยและบริการได้ดีกว่า อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกและบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายปิยะศักดิ์กล่าว

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุดมีธุรกิจจำนำทะเบียนได้รับไลเซนส์สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแล้วทั้งสิ้น 38 บริษัท (ณ 10 ก.พ. 2563)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2562 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้วทั้งสิ้น 782 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 52 ราย และประเภทพิโกพลัสทั้งสิ้น 22 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 7 ราย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทสามารถให้บริการสินเชื่อ โดยรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้ด้วย

นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการทดลองปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารจะออกมาทำตลาดปีนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อรถกู้เงินด่วน (CarQuickCash) ที่มีอยู่แล้ว

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทได้เริ่มธุรกิจใหม่ ภายใต้ “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” แล้ว ซึ่งในส่วนที่เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมีลูกค้าเข้ามาขอใช้สินเชื่อแล้วเป็นหลักสิบล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจต่อเนื่อง