ธปท.ลุยแผนชำระเงินข้ามประเทศ ชี้ Q3 ผนึกสิงคโปร์เชื่อมระบบพร้อมเพย์

Photographer: Huiying Ore/Bloomberg via Getty Images

แบงก์ชาติ เดินหน้าแผนระบบชำระเงิน ชี้ ไตรมาส 3 จ่อเชื่อมพร้อมเพย์-เพย์นาวสิงคโปร์ ล่าสุด จับมือกัมพูชา เปิดบริการ QR Payment ข้ามประเทศ หนุนนักท่องเที่ยว-นักธุรกิจชำระเงินผ่านโมบายแอปพลิเคชัน สะดวก-ช่วยลดต้นทุน

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ จะมีความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของไทย และสิงคโปร์ โดยจะเชื่อมระบบกลางการชำระเงินระหว่างของไทย (ITMX) และระบบกลางสิงคโปร์ ผ่านระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) กับ เพย์นาว (Paynow) ทำให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจของทั้งประเทศสามารถชำระเงินผ่านการสแกน QR Code ในการจ่ายเงินได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนธุรกิจทั้งสองประเทศให้ถูกลง ขณะเดียวกัน ประเทศที่ได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินไปหน้านี้ จะมีสปป.ลาว ญี่ปุ่น

“เดิมสิงคโปร์เริ่มให้บริการไปแล้ว แต่จะเป็นในส่วนของผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์มือถือ เช่น เอไอเอส แต่ไตรมาสที่ 3 นี้ จะมีความก้าวหน้าอีกขั้น คือ การเชื่อมระบบกลางของทั้ง 2 ประเทศสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น”

และล่าสุด ธปท.ได้เปิดตัวบริการชำระเงินผ่าน QR Payment ข้ามประเทศ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชาที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นธนาคารผู้ให้บริการ (Sponsoring bank) พัฒนาบริการชำระเงินด้วย Interoperable QR Code รองรับการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้าของทั้ง 2 ประเทศ

โดยบริการดังกล่าวจะเริ่มให้บริการกับนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาประเทศไทยสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารกัมพูชาที่ร่วมให้บริการสแกน Thai QR Code ที่ร้านค้าในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป และภายในไตรมาสที่ 3 นักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารไทยที่ร่วมให้บริการสแกน QR Code ของกัมพูชาเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศกัมพูชาได้

“ระบบการชำระเงินผ่าน QR Code มาตรฐานนี้ลูกค้าสามารถรู้ได้ทันทีว่าราคาสินค้าเป็นเงินกัมพูชาเท่าไร และแปลงเป็นเงินไทยเท่าไร ซึ่งเรทเงินจะถูกว่าร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอีก แลพยอดจะตัดเงินแบบ Realtime ทันที ซึ่งเป็นความสะดวกอย่างมาก”


ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน (e-Payment) ถือเป็นวาระ (Agenda) สำคัญที่ธปท.พยายามขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการผลักดันระบบการชำระเงินของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนอย่างมาก ทั้งในแง่ต้นทุนธุรกิจและต้นทุนรายย่อยสะดวกรวดเร็ว