“TMB-ธนชาต” ถอยธุรกิจ บลจ. เปิดทาง “อีสท์สปริง” รวบมาร์เก็ตแชร์

การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารธนชาต ไม่ได้จบเพียงแค่การรวม 2 แบงก์เข้าด้วยกัน หากแต่ธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นบริษัทลูกของแต่ละแห่ง ก็ต้องบริหารจัดการให้เกิดความชัดเจนด้วย

เช่นเดียวกับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ฝั่งมี “TMBAM Eastspring หรือ “บลจ.ทหารไทย” แต่เดิม ซึ่ง “อีสท์สปริง อินเวสท์เม้นท์” (Eastspring) ได้เข้ามาถือหุ้น 65% เมื่อเดือน ก.ย. 2561 ส่วนด้านธนชาต ก็มี “บลจ.ธนชาต” (TFUND) อยู่

“นิค นิแคนดรู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย ในฐานะบริษัทแม่ของอีสท์สปริงเปิดเผยว่า ขณะนี้อีสท์สปริงได้เข้าซื้อหุ้นใน บลจ.ธนชาต 50.1% จากธนาคารธนชาต 25.1% และจากธนาคารออมสินอีก 25% ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเป็น “บลจ.ธนชาต ฟันด์ อีสท์สปริง” (Thanachart Fund Eastspring) ซึ่งจะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันอยู่ที่ 12% และมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการสุทธิ (AUM) รวมกันที่ 668,000 ล้านบาท

“หลังจากนี้การควบรวม 2 บลจ. จะเกิดขึ้นภายในปี 2564 สอดคล้องกับกรอบเวลาการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต โดยแต่ละ บลจ.มีผลิตภัณฑ์การลงทุนและความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ซึ่ง บลจ.ธนชาตมีจุดแข็งที่การลงทุนเชิงรุกในหุ้น สินทรัพย์ผสม ตลาดเงิน และตราสารหนี้ ส่วน บลจ.ทหารไทยมีความสามารถด้านการลงทุนเชิงรับในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งใน 5 ปีต่อจากนี้ ขนาดของตลาดกองทุนรวม (mutual fund) จะเติบโตราว 12% ซึ่งหลังการควบรวม 2 บลจ.แล้ว เชื่อว่า บลจ.ใหม่จะสามารถเติบโตได้เหนือตลาด” นายนิแคนดรูกล่าว

ฟาก “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า การควบรวมกิจการของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต จะส่งผลให้ 2 บลจ.มีช่องทางการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 900 สาขา

“ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นหลังการควบรวมกันของ 2 บลจ. ทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนให้ถูกลง และสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายในราคาที่จับต้องได้ให้แก่ประชาชนต่อไป” นายปิติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารทหารไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นใน บลจ.ทหารไทยอยู่ที่ 30% และถือหุ้นใน บลจ.ธนชาตอยู่ที่ 49% โดยตั้งแต่ปี 2563-2567 เป็นต้นไป ธนาคารทหารไทยจะทยอยปรับลดการถือหุ้นในทั้ง 2 บลจ. จนเหลือ 0% ด้วยการขายหุ้นให้แก่อีสท์สปริงฯ เพื่อให้สอดรับกับบริการ “TMB open architecture” ที่จะเสนอขายกองทุนหลากหลายยี่ห้อผ่านธนาคารทหารไทย

“ที่ผ่านมาเราได้ค่าธรรมเนียมจากการขายและบริหารกองทุน รวมถึงอัตราเงินปันผล จากการถือหุ้นทั้ง 2 บลจ. โดยระยะ 5 ปีต่อจากนี้ รายได้ส่วนของเงินปันผลก็จะหายไป แต่เราทำเพื่อให้พาร์ตเนอร์ที่ขายกองทุนผ่านธนาคารมีความมั่นใจว่า เราเสนอขายกองทุนจากทุก บลจ.อย่างโปร่งใส” นายปิติกล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการออกผลิตภัณฑ์กองทุนพ่วงประกันสุขภาพ (unit linked) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะถัดไป เนื่องจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการคัดเลือกพันธมิตรระหว่าง บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของทีเอ็มบีในปัจจุบัน กับ บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต พันธมิตรหลักของธนาคารธนชาต

ดังนั้น ใน 5 ปีข้างหน้า ธนาคารทหารไทยที่รวมกิจการกับธนชาตแล้ว ก็คงปิดฉากการทำธุรกิจ บลจ.ไป โดยหันไปขายโปรดักต์กองทุนของทุก ๆ บลจ. แบบไม่มีข้อจำกัดแทน