ธปท.แนะภาครัฐเลี่ยงมาตรการช่วยอุดหนุนซ้ำซาก-ซ้ำเติมผลิตภาพไทยไม่พัฒนา

Photographer: Luke Duggleby/Bloomberg via Getty Images

ธปท.เร่งภาครัฐ-องค์กร-เอกชน ยกระดับผลิตภาพของไทย ชี้ เป็นตัวกำหนดศักยภาพเศรษฐกิจไทย หลังมาเลเซียแซงหน้าไทยทะลุ 30% เตือนรัฐบาลหลีกเลี่ยงมาตรการอุ้มระยะสั้น หันเพิ่มผลิตภาพระยะยาว กระตุ้นพฤติกรรมรับโลกที่เปลี่ยนไป พร้อมยกเลิกหลักเกณฑ์ล้าสมัย-สร้างแรงจูงใจการแข่งขันในระบบ ลดการผู้ขาดผู้ประกอบการรายใหญ่-รัฐวิสาหกิจ

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Productivity หัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ในงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ว่า Productivity เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะ Productivity หรือผลิตภาพจะเป็นตัวกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต แท้จริงแล้ว ผลิตภาพไม่ได้สำคัญต่อเฉพาะศักยภาพของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของพวกเราทุกคนในอนาคตอีกด้วย

“การเพิ่มผลิตภาพอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาว”

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีปัญหาด้านผลิตภาพในหลายมิติ แต่ปัญหาด้านผลิตภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ 5 เรื่อง และนำเสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้านที่เราต้องช่วยกันเร่งคิด เร่งหาทางออก เพื่อเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยต่อไป คือ

1. ผลิตภาพโดยรวมของไทยยังค่อนข้างต่ำและไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย หากย้อนหลังไป 30 ปีที่มีผลิตภาพใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันมาเลเซียสูงกว่าไทยถึง 30%

2. แรงงานไทย 1 ใน 3 ของ 38 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำและเติบโตชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นกว่าประเทศเพื่อบ้านอย่างจีน เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น โดยปัญหาผลิตภาพต่ำจะยิ่งส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน

3. ช่องว่างของผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีกว้างขึ้นในหลายอุตสาหกรรม จากการวิเคราะห์ข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรมพบว่า สัดส่วนของผลิตภาพแรงงานในธุรกิจขนาดใหญ่สุด 10% เทียบกับธุรกิจขนาดเล็กสุด 10% เพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่าในปี 2539 เป็น 7.7 เท่าในปี 2554 ความแตกต่างดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น เป็นอีกสาเหตุที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

4. แรงงานเผชิญกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ซับซ้อนหรือล้าสมัย ซึ่งงานวิจัยของ TDRI พบว่าทุกวันนี้มีกฎระเบียบข้อบังคับกว่า 100,000 ฉบับ และกฎระเบียบจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันและโลกใหม่ที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ต้องการประกอบกิจการค้าปลีกอาจต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการมากถึง 8 แห่ง ซึ่งเป็นต้นทุนในการประกอบกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่กฎระเบียบมักสร้างภาระให้สูงกว่าธุรกิจรายใหญ่

5. นโยบายภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการ เช่น นโยบายที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรม ในหลายกรณี การประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐเอง ส่งเสริมให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายมีอำนาจเหนือตลาด

“นโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ เช่น นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทยส่วนมากเป็นการช่วยเหลือระยะสั้นและช่วยซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลให้เกษตรกรทำเหมือนเดิม ขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้น ในปัจจุบัน มาตรการช่วยเหลือที่มีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาวเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายบางอย่างกลับสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเน้นเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เพราะได้ปริมาณผลผลิตสูง สามารถนำไปจำนำและรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้มากกว่า”

3 เหตุผลที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง

ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า ปัญหาผลิตภาพต่ำและเพิ่มขึ้นช้าของเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังโดยเร็วแล้ว จะยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

1. การแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงขึ้นมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ประเทศคู่แข่งพัฒนาผลิตภาพอย่างก้าวกระโดด การขาดการพัฒนาผลิตภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพที่อาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน จะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในตลาดโลกลดลงเรื่อยๆ

2. การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยได้ทำให้จำนวนคนไทยในวัยทำงานลดลงต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว และจะลดลงเร็วขึ้นอีกในอนาคต หากเราไม่พัฒนาผลิตภาพเพื่อชดเชยกำลังแรงงานที่ลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยรวมย่อมลดลงตามไปด้วย

3. สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะทำให้ความเสี่ยงในการผลิตและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

“การเพิ่มผลิตภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ลูกจ้าง แรงงาน หรือผู้ประกอบธุรกิจ มีรายได้สูงขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น สามารถลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และรับมือเหตุการณ์หรือภัยพิบัติในอนาคตได้ดีขึ้น”

อย่างไรก็ดี หนทางเดียวที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวในภาวะที่โลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือ เราต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งผมคิดว่ามีอย่างน้อย 5 แนวทางสำคัญที่มีนัยต่อการเพิ่มผลิตภาพ ได้แก่

1. การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาสในการพัฒนาผลิตภาพ เพราะหากการเพิ่มผลิตภาพโดยไม่คำนึงถึงการกระจายโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน จะก่อให้เกิดช่องว่างของการกระจายรายได้ที่กว้างขึ้น

2. ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นหัวใจของการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคเกษตรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่การพัฒนา digital platform และการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน โดยเฉพาะ smart phone สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นอกจากนี้ Digital platforms ไม่เพียงแต่ช่วยสร้าง “พื้นที่” ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาซื้อขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์

3. ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐ และส่งเสริมการทำงานของระบบตลาด และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจเอกชนดัวยกันเองและระหว่างธุรกิจเอกชนกับรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะจะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจมักจะมีผลิตภาพต่ำกว่าธุรกิจเอกชนแต่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และในโลกของเศรษฐกิจดิจิทัลที่ “ข้อมูล” เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องหมายรวมถึงระบบนิเวศน์ด้านข้อมูลและเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าภาครัฐเป็นแหล่งจ้างงานของคนไทยกว่า 3.5 ล้านคน การเพิ่มผลิตภาพของภาครัฐ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย

4. ภาครัฐจะต้องสร้างระบบแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้งภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้นเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ แต่ต้องแยกความจำเป็นที่ต้องเยียวยาในระยะสั้นออกจากทิศทางยุทธศาสตร์ที่ต้องส่งเสริมในระยะยาว เพราะถ้ายังทำแนวทางเดิมปัญหาผลิตภาพต่ำจะไม่ได้รับการแก้ไข

“ภาครัฐควรหลีกเลี่ยงการออกมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพของประเทศโดยไม่จำเป็น หากมีการให้เงินอุดหนุนควรมีเงื่อนไขหรือแรงจูงใจให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต โดยเฉพาะการเร่งเพิ่มผลิตภาพ”

5. การเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับประเทศ องค์กร และระดับบุคคล และไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น เช่น หลายประเทศให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรค ไม่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ และประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“Productivity หรือผลิตภาพ เป็นหัวใจสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ไม่ใช่เพียงแค่ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างเสถียรภาพทางสังคมในระยะยาวอีกด้วย”