ธปท.เกาะติดแบงก์อุ้มธุรกิจ บี้แก้หนี้-สกัดเอ็นพีแอลพุ่ง

ธปท.เปิดมาตรการแบงก์อุ้มลูกค้าฝ่าผลกระทบไวรัส “โควิด-19” เร่งติดตาม-จี้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่ยังมีศักยภาพ หวังคุมคุณภาพหนี้-สกัดเอ็นพีแอลปีนี้ที่มีโอกาสทะลุ 3% พอใจแบงก์แก้เอ็นพีแอล Q4/62 ลดลงเหลือ 2.98% คาดสินเชื่อปีนี้โตระดับ 2%

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามการปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจของสถาบันการเงินต่าง ๆ หลังจากที่ออกเกณฑ์ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 โดยยังไม่มีการออกมาตรการเพิ่มเติม แต่ก็มีการเปิดรับฟังความเห็นจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะเน้นปรับในกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ เพียงแต่ประสบปัญหาเรื่องของสภาพคล่องชั่วคราว ดังนั้น หลังปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

“ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ หลังจากปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ก็มีบางธุรกิจที่อาจจะยังไปไม่รอดบ้าง แต่ภาพใหญ่เรามุ่งเป้าไปที่กลุ่มธุรกิจที่ยังมีศักยภาพอยู่ ดังนั้น โอกาสที่ปรับไปแล้วยังจะกลับมาเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็มีไม่ค่อยสูง”

ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 2563 สถาบันการเงินก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ (ดูกราฟิก) และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ได้แก่ 1.พักชำระหนี้ (เฉพาะเงินต้นสูงสุด 6 เดือน) 2.ขยายเวลาชำระหนี้ 3.ลดอัตราดอกเบี้ย (รายกรณี) และยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ (บัตรเครดิต) 4.ลดยอดขั้นต่ำที่ต้องชำระ (บัตรเครดิต) และ 5.ยกเว้นค่าธรรมเนียม

นายธาริฑธิ์กล่าวอีกว่า ในปี 2563 นี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ ยังมีแนวโน้มที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะปรับเพิ่มขึ้นไปเกิน 3% ได้อีก จากที่ในปี 2562 เอ็นพีแอลในภาพรวมเคยสูงถึง 3.1-3.2% มาแล้ว แต่ ณ สิ้นปี 2562 ปรับลดลงเหลือ 2.98% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการ และเชื่อว่าปีนี้แบงก์ก็จะสามารถบริหารจัดการเอ็นพีแอลให้ปรับลดลงตามเป้าหมายที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนดไว้ได้เช่นกัน

“ปกติแล้ว คุณภาพหนี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลง ก็มีความเป็นไปได้ที่แนวโน้มคุณภาพหนี้จะด้อยลง แต่เราได้ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้ดูแลกลุ่มลูกหนี้ที่เผชิญปัญหาสภาพคล่องเป็นพิเศษ ดังนั้น หากมีการช่วยเหลืออย่างทันการ คุณภาพหนี้ก็ไม่น่าจะเสื่อมลงมากนัก”


ส่วนสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ ตลาดคาดการณ์กันว่าจะโตได้ราว 2% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ หลังจากปี 2562 ที่สินเชื่อโต 2% ลดลงจากปี 2561 ที่โตได้ 6% โดยภาพรวมของคุณภาพสินเชื่อในปี 2562 ถือว่าทรงตัว เป็นผลจากแบงก์มีการตัดจำหน่ายหนี้ (write off) หนี้เสียธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในไตรมาส 4 ส่งผลให้เอ็นพีแอลภาพรวมทรงตัวอยู่ที่ 2.98% และสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) อยู่ที่ 2.79%