ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเฟดมองเศรษฐกิจสหรัฐปี’63 โตได้

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (19/2) ที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐประจำวันที่ 28-29 มกราคม 2563 ซึ่งรายงานดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐนั้นมีความเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่การจ้างงานขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่พร้อมจะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2

นอกจากนั้นยังได้แสดงความเห็นว่านโยบายการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบร้อยละ 1.5-1.75 มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุมดังกล่าวได้ระบุถึงแนวคิดของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐที่จะเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 มาเป็นการกำหนดเป้าหมายเป็นกรอบแทน โดยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาทั้งหมด 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความไม่ชัดเจนที่อาจจะเกิดขึ้น ความแตกต่างจากการกำหนดนโยบายแบบเดิม และการนำนโยบายไปใช้ และคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐได้พูดถึงการเข้าซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลที่ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินการเข้าซื้อคืนจากเอกชนอยู่ที่ปริมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ว่ามีโอกาสที่นโยบายดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนลดลง หรือยกเลิกหลังจากเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากปริมาณเงินสำรองของธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มกลับมาสู่ระดับที่เหมาะสมเพียงพอ

สำหรับดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกมาเปิดจำนวนใบอนุญาตก่อสร้างบ้านสหรัฐ เดือนมกราคมที่ 1.551 ล้านฉบับ และดัชนีจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง เดือนมกราคมที่ลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งทั้งสองดัชนีนั้นออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานได้ออกมาเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.22-31.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 1.0808/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (12/2) ที่ระดับ 1.0803/06 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม  บ่ายวันนี้ (20/2) ประเทศเยอรมนีเผยดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีโดยสถาบัน GFK เดือนมีนาคมที่ 9.8 ซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากแรงกดดันของดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0795-1.0812 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0803/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/2) ที่ระดับ 111.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/2) ที่ระดับ 110.21/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าเนื่องจากตลาดมีความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง หลังจากมีการเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกมีอัตราเร่งลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยอัตราผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (20/2) อยู่ที่ 2,128 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 75,728 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.13-111.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.81/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตจากเฟดฟิลาเดลเฟี (20/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของสหรัฐ (20/2), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซน เดือน ม.ค. (21/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการเดือน ก.พ. (21/2), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือน ม.ค. (21/2)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.95/-1.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ +2.70/+4.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ