ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายระยะเวลา หรือเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิต

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังนาย Jabar al-Luaibi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิรัก เผยผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกกำลังพิจารณาที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตไปหลังจากเดือนมี.ค. 61 หรืออาจมีการปรับลดกำลังการผลิตในปริมาณที่มากกว่าระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังคงเร็วเกินไปที่จะสรุปหรือตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงเพิ่มเติมดังกล่าว

+/- ตลาดยังคงจับตามองการประชุมกลุ่มโอเปกในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ (22 ก.ย. 60) ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหลังเดือนมี.ค. 61 โดยคาดว่าในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไนจีเรียและประธานบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นในการลดกำลังการผลิตในครั้งก่อนอาจเข้าร่วมประชุมด้วย

+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ย. 61 ปรับตัวลดลง โดยปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 5.7 ล้านบาร์เรล

– ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน และมากกว่าที่วิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 3.5 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงกดดันของความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับ อุปทานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากพายุกลับมาดำเนินการอีกครั้ง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ผู้ค้าน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียสามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังภูมิภาคตะวันตกได้เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อของศรีลังกา

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

จับตาการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 22 ก.ย. ว่าจะมีการออกมาตรการสำหรับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ โดยล่าสุดรัฐมนตรีของคูเวตกล่าวว่ากลุ่มผู้ผลิตอยู่ระหว่างการชักชวนผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกเพิ่มเติมสำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต

ปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกคาดจะปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นและผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปกและนอกโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD commercial stocks) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,016 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีเพียง 190 ล้านบาร์เรล โดนผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกเพิ่มความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้นจาก 75% มาอยู่ที่ระดับ 82% ในเดือน ก.ค. ขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกความร่วมมือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119% ในเดือนดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา