“อภิศักดิ์” ปิดจุดอ่อนเงินคงคลัง ตีกรอบกู้บริหารเงินสดยุติยืดตั๋ว 8 หมื่นล้าน

คลังแก้กฎหมาย 2 ฉบับปลดล็อกกับดัก “บริหารสภาพคล่อง” หลังต้อง Roll Over ตั๋วเงินคลัง 8 หมื่นล้านบาทเพื่อปิดหีบมาเป็น 10 ปี แจงแก้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มกรอบ “กู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง” ได้ ตีกรอบเพดานไม่เกิน 5% ของงบฯประจำปี พร้อมแก้ พ.ร.บ.เงินคงคลังเปิดช่องโยกเงินบริหารสภาพคล่องไม่ต้องตั้งงบฯชดใช้คืนเงินคงคลัง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจต้องดูแลความมั่นคงทางด้านการคลัง โดยได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินคงคลัง ที่จะออกมาเพื่อเป็นกรอบดูแลให้เกิดความมั่นคงในการใช้จ่ายเงินของประเทศมากยิ่งขึ้น

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

ขณะที่รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.เงินคงคลัง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เป็นการเพิ่มเติมบทบัญญัติให้กระทรวงการคลังสามารถสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินคงคลัง บัญชีที่ 2 ซึ่งเป็นบัญชีเงินกระแสรายวันที่กระทรวงการคลังมีไว้เพื่อจ่ายเงิน สำหรับการชำระคืนต้นเงินกู้ที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังได้ โดยไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณถัดไป

พร้อมกันนี้ยังมี ร่าง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลังได้ โดยกำหนดกรอบเพดานการกู้เงินโดยกระทรวงการคลัง จะมีหนี้คงค้างเพื่อบริหารสภาพคล่อง ณ ขณะใดขณะหนึ่งได้ไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เงินคงคลังช่วงรอยต่อระหว่างปลายปีงบประมาณเก่ากับต้นปีงบประมาณใหม่อยู่ระดับสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท อันเนื่องจากกระทรวงการคลังจำเป็นต้องออกตั๋วเงินคลัง (T-bill) เพื่อกู้เงินมาชำระคืนเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่กู้บริหารสภาพคล่องในช่วงระหว่างปีงบประมาณ เพราะบางเดือนมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย เนื่องจากไม่ใช่ช่วงฤดูภาษี

โดยการที่ต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะนั้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่อง แต่ให้อำนาจเฉพาะกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ที่ผ่านมา สบน.จึงต้องกู้ภายใต้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณดังกล่าวมาบริหารสภาพคล่องระหว่างปีในช่วงที่ขาดกระแสเงินสด

“การใช้วงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปบริหารสภาพคล่อง มีปัญหาข้อกฎหมาย เพราะว่าต้องใช้เงินคงคลังในการปิดบัญชี ซึ่งการใช้เงินคงคลังก็ต้องตั้งงบประมาณปีถัดไปมาชดใช้ ทั้ง ๆ ที่การกู้บริหารสภาพคล่องระหว่างปีไม่ได้เป็นการจ่ายขาด เพราะพอมีรายได้เข้ามาก็จะมาปิดวงเงินที่กู้บริหารสภาพคล่องไป แต่เมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องตั้งงบฯ ชดใช้คืนเงินคงคลัง ทำให้ปิดวงเงินไม่ได้ จึงต้องมีการยืดวงเงินตั๋วเงินคลัง (Roll Over) จำนวน 8 หมื่นล้านบาทออกไป ซึ่งทำแบบนี้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว” นายธีรัชย์กล่าว

ส่วนประเด็นที่ร่างกฎหมายกำหนดเพดานให้กู้ไว้ไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ก็เป็นการบริหารระหว่างปี ซึ่งพอถึงสิ้นปีก็จะกลายเป็นศูนย์ ดังนั้นจึงไม่กระทบกับระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพราะหนี้สาธารณะอาจจะมีเพิ่มแค่ช่วงระหว่างปี แต่พอสิ้นปีก็จะลดลง

นอกจากนี้ การที่ต้องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.เงินคงคลังด้วย ก็เพื่อให้สามารถใช้เงินคงคลังในการบริหารสภาพคล่องได้ โดยไม่ต้องไปตั้งงบประมาณปีถัดไปมาชดใช้คืน เนื่องจากการบริหารสภาพคล่องระหว่างปีไม่ได้เป็นการจ่ายขาด


นายธีรัชย์กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจะช่วยให้การบริหารเงินคงคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาเงินคงคลังต้นปีงบประมาณที่มีระดับสูง จนที่ผ่านมาถูกคนที่ไม่เข้าใจโจมตีมาตลอด โดยสามารถลดวงเงินกู้ 8 หมื่นล้านบาทตอนปลายปีงบประมาณลงไปได้ เพราะระหว่างปีสามารถกู้บริหารสภาพคล่องตามกระแสเงินสดในขณะนั้นได้แล้ว อย่างไรก็ดี ต่อไปการกำหนดระดับเงินคงคลังที่เหมาะสม ทางกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้กำหนด เช่น ดำรงวงเงินไว้รองรับการเบิกจ่ายสำหรับ 10-20 วันทำการ ซึ่งอาจจะราว ๆ 1 แสนล้านบาท เป็นต้น