ปัจจัยลบรุมเร้า เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (17/2) ที่ระดับ 31.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์ หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 ว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 และเศรษฐกิจทั้งปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี ชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงร้อยละ 4.9 จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน และสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์จากการลดสายการผลิตรถยนต์รุ่นเดิมเพื่อรอเปลี่ยนโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ และหมวดน้ำมันปิโตรเลียมจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งในปัจจุบันได้กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติแล้ว ดังนั้น จึงมองว่า ผลกระทบต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว รวมไปถึงความล่าช้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563

ทั้งนี้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน เนื่องจากทั่วโลกยังคงกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรน่า) ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนสินทรัพย์ปลอดภัยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Empire State Index ของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ ออกมาอยู่ที่ 12.9 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.0 อย่างมาก

นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐประจำวันที่ 28-29 มกราคม 2563 ซึ่งรายงานดังกล่าวมีใจความสำคัญว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐนั้นมีความเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี ขณะที่การจ้างงานขยายตัวอย่าแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่พร้อมจะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2 นอกจากนั้นยังได้แสดงความเห็นว่านโยบายการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กรอบร้อยละ 1.5-1.75 มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม รายงานการประชุมดังกล่าวได้ระบุถึงแนวคิดของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐที่จะเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 มาเป็นการกำหนดเป้าหมายเป็นกรอบแทน โดยมีปัจจัยที่ต้องการพิจารณาทั้งหมด 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความไม่ชัดเจนที่อาจจะเกิดขึ้น ความแตกต่างจากการกำหนดนโยบายแบบเดิม และการนำนโยบายไปใช้ และคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐได้พูดถึงการเข้าซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลที่ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินการเข้าซื้อคืนจากเอกชนอยู่ที่ปริมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนว่า มีโอกาสที่นโยบายดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนลดลง หรือยกเลิกหลังจากเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากปริมาณเงินสำรองของธนาคารกลางสหรัฐเริ่มกลับมาสู่ระดับที่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.12-31.69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 31.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง ในวันศุกร์ (21/2) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน ขณะที่มีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดความกังวลต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (17/2ป ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0830/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 1.0833/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากประเด็นด้านการค้าหลังประเทศอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป โดยนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) อาจต้องช่วงชิงผลประโยชน์ในช่วงการเจรจาการค้าภายหลังการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit ซึ่งเขามองว่า อาจเป็นเรื่องยากสำหรับอังกฤษที่จะบรรลุเป้าหมายการทำข้อตกลงการค้าเสรีให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินยูโรยัคงปรับตัวอ่อนค่าลง หลังตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสถาบัน ZEW ในเดือนกุมภาพันธ์ของยูโรโซน ออกมาอยู่ที่ระดับ 8.7 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 21.5 อย่างมาก นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณยุโรป ที่สมาชิกสหภาพยุโรปแต่ละประเทศมีท่าทีที่ต่างกัน โดยเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก ต่างยึดมั่นต่อการดำเนินนโยบายด้านงบประมาณที่เข้มงวด ขณะที่สมาชิกบางประเทศ โดยเฉพาะในเขตยุโรปตะวันออก ต่างเรียกร้องเงินช่วยเหลือที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ประเทศสมาชิกได้ในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี (20/2) มีการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนีประจำเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมนีโดยสถาบัน GFK เดือนมีนาคมที่ 9.8 ซึ่งเท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตามค่าเงินยูโรยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากแรงกดดันของดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0775-1.0850 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0803/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันจันทร์ (17/2) เปิดตลาดที่ระดับ 109.77/80 ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวในกรอบแคบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/2) ที่ระดับ 109.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันจันทร์ (17/2) สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 ของปี 2562 หดตัวลงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะหดตัวราวร้อยละ 3.7

นอกจากนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี พบว่า ปรับตัวลดลงจากการที่นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดลบ หลังนักลงทุนมีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่อาจชะลอตัว ประกอบกับมีการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมกราคมออกมาหดตัว 2.6% ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกัน 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับเดือนธันวาคมเองก็หดตัวที่ 12.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.9% อย่างมาก

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 109.64-112.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 111.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ