ระเฑียร ศรีมงคล ดัน KTC รุกสินเชื่อรายย่อยครบวงจร

ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย
สัมภาษณ์

ปีที่ผ่านมา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” เตรียมการรุกธุรกิจใหม่มาตลอด แม้ว่าบริษัทจะสามารถทำกำไรนิวไฮมาได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างสถิติใหม่เป็นปีที่ 7 ในปี 2562 ส่วนในปี 2563 นี้ บริษัทประกาศรักษาระดับกำไรไม่ให้น้อยกว่าเดิม ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ระเฑียร ศรีมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” ถึงทิศทางธุรกิจในปีนี้

“รูดปรื๊ด” ยังโต-คุมคุณภาพหนี้

“ระเฑียร” ประเมินแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2563 ว่าค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ครบ 3 ด้าน ทั้งด้านการผลิต, ค้าขาย และบริการ ส่งผลต่อการเติบโต ขณะที่มีสัญญาณคุณภาพสินเชื่อด้อยลง

“ปีนี้ แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีทิศทางเพิ่มขึ้นได้ แต่บริษัทก็มีแผนการรับมือบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และมีระบบคัดกรองลูกค้าที่มีประสิทธิภาพและเข้มข้น ซึ่งที่ผ่านมา ทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากตัวเลข NPL ในปี 2562 อยู่ที่ 1.1% ถือว่าทำได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับระบบ และในปี 2563 ก็จะพยายามรักษา NPL ไว้ระดับนี้”

โดยปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต (สเปนดิ้ง) เติบโตที่ 10-12% (ปี 2562 โต 10.6%) และขยายฐานบัตรเครดิตเป็น 3.2-3.5 แสนใบ จากปัจจุบันมีอยู่ 2.5 ล้านใบ ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลตั้งเป้าเติบโตที่ 10% เน้นขยายฐานลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้ว 9 แสนราย ให้ใช้จ่ายต่อเนื่องและมีวินัยการชำระหนี้ที่ดี

นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทจะยกระดับเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยและผู้ให้บริการระบบชำระเงิน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ไตรมาสแรกเป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ เพราะต้องยอมรับว่า ธุรกิจการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรุนแรงในระยะข้างหน้า จึงต้องปรับตัวรับมือ

“ในช่วง 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) เราเห็นสัญญาณคุณภาพสินเชื่อด้อยลง ซึ่งเห็นสัญญาณก่อนจะมีเรื่องไวรัสโควิด-19 เข้ามา จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปีก่อน และมาตอนนี้ภาพชัดเจนขึ้น จากเดิมกระทบแค่ 2 เซ็กเตอร์ คือ ภาคการผลิต และการค้า แต่ปัจจุบันเริ่มกระทบภาคบริการด้วย ดังนั้น ลูกค้าจะได้รับผลกระทบ และสินเชื่อด้อยคุณภาพเร่งตัวขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ โดยเรามีแผนรับมือไว้อยู่แล้ว จึงกระทบเราไม่แรง”

เดินหน้าลุย “เคทีซีพี่เบิ้ม”

สำหรับธุรกิจใหม่ ภายใต้ชื่อ “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” ที่ประกอบด้วย สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ) และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ) ซึ่งได้เปิดตัวมาตั้งแต่ปีก่อน ความคืบหน้าขณะนี้ คือ บริษัทได้เริ่มดำเนินการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี มีลูกค้าเข้ามาขอใช้สินเชื่อเป็นหลักสิบล้านบาทแล้ว โดยบริษัทก็จะขยายธุรกิจส่วนนี้ไป ขณะที่สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ปัจจุบันเริ่มดำเนินธุรกิจไปแล้ว 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนอีก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ที่ขณะนี้ได้รับในอนุญาต (ไลเซนส์) ให้ประกอบธุรกิจได้แล้วนั้น คาดว่าภายใน 2-3 เดือน จะเปิดดำเนินธุรกิจได้

ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์นั้น “ระเฑียร” กล่าวว่า ได้รับไลเซนส์มาแล้วเช่นกัน แต่บริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนแผนการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ มีการแข่งขันสูง แต่อัตราการเติบโตค่อนข้างต่ำ ดังนั้น อาจจะต้องหาวิธีการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมอีกที ซึ่งอาจจะช้ากว่าแผนที่วางไว้ แต่ดำเนินการแน่นอน

ทั้งนี้ “ระเฑียร” แสดงความมั่นใจว่า ภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้ การทำธุรกิจ “สินเชื่อเคทีซีพี่เบิ้ม” น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะโมเดลธุรกิจเริ่มเสถียร เพียงแต่แผนงานล่าช้ากว่ากำหนด ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทอยู่ระหว่างปรับระบบ ปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า วิธีการปล่อยสินเชื่อ ตลอดจนด้านความเสี่ยง เพื่อให้สินเชื่อที่ปล่อยมีประสิทธิภาพมากที่สุดประกอบกับผู้ที่ทำระบบของบริษัท หรือโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ จากกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดว่าภายใน 2-3 เดือน น่าจะเริ่มเดินหน้าต่อได้

“ตอนนี้ business model เริ่มนิ่งแล้ว ระบบเรียบร้อยไปแล้ว 80% อีก 20% เป็นการปรับระบบให้เข้าที่ ปรับการทำงาน ซึ่งต้องใช้เวลาหน่อย และเผอิญคนที่ปรับระบบให้เรา เข้ามาทำงานตอนนี้ไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนจีน ทำให้การส่งงานช้า แผนเราก็ช้าไปด้วย แต่คิดว่าสถานการณ์ดังกล่าว คงไม่นาน”

หลังจากนี้ คงได้เห็น “เคทีซี” เดินเกมรุกธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอย่างครบวงจรมากขึ้น