ภัยแล้งทุบ “ข้าว-มัน” อ่วม หนี้เสียทะยาน แบงก์ชะลอสินเชื่อ

ภัยแล้งปี 2563 นี้ ส่อเค้าทวีความรุนแรงกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจไทย นอกเหนือไปจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563

โดย “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ภัยแล้งถือเป็นปัจจัยคลื่นลูกที่ 3 นอกเหนือจากปัจจัยการระบาดของไวรัสโควิด-19 และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า ที่กระทบอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ให้โตเพียง 1.5% จากเดิมคาดที่ 2.5% โดยไตรมาสแรกจีดีพี คาดจะหดตัว -0.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และ -1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ส่วนไตรมาส 2 จีดีพีจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 0.2% YOY หรือขยายตัว 1.3% QOQ

ทั้งนี้ ความรุนแรงของภัยแล้งอยู่ภายใต้ 3 สมมติฐาน คือ 1.กรณีจบเร็วภายในเดือน พ.ค. จะมีความเสียหายต่อพืชเกษตร เช่น ข้าวและมันสำปะหลัง ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท 2.จบภายในเดือน มิ.ย. จะเสียหายราว 4.1 หมื่นล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 0.27% และ 3.ลากยาวไปจบในเดือน ก.ค. จะเสียหายราว 5.7 หมื่นล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพีราว 0.34%

นอกจากนี้ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ผลกระทบต่อเนื่องไปยังซัพพลายเชนของธุรกิจภาคเกษตร ที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น กรณีที่ข้าวลดลง 1% จะกระทบปุ๋ยเคมีลดลง 0.21% ปิโตรเลียมลดลง 0.07% ภาคเกษตรบริการ 0.05% และความต้องการที่มีต่อภาคการเงินลดลง 0.04% เป็นต้น

“ภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรงมากกว่าในปี 2559 เป็นผลมาจากระดับน้ำที่สต๊อกไว้ค่อนข้างน้อย และเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปีก่อน ดังนั้นเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับสภาพคล่องในการช่วยเหลือ เพราะไม่เพียงแค่กลุ่มพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังโยงไปถึงกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องที่โดนหางเลขไปด้วย แต่เชื่อว่าภาครัฐจะเร่งออกมาตรการมาดูแล” ดร.สมประวิณกล่าว

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ปี 2563 นี้ เป็นปีที่ภัยแล้งจะรุนแรงกว่า 5 ปีก่อน ที่เกิดวิกฤตภัยแล้งที่ส่งผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้มีอยู่ 44,082 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่า 5 ปีก่อนที่มีปริมาณ 51,019 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนทั้งปีก็น่าจะน้อย คือ ปริมาณฝนรวมตลอดปีเฉลี่ยทั่วประเทศมีค่าประมาณ 1,384 มิลลิเมตร ต่ำกว่า 5 ปีก่อนที่อยู่ที่ 1,520 มิลลิเมตร

“ปีนี้ภัยแล้งจะหนัก เราประเมินว่าพืชที่โดนกระทบหนัก ๆ ก็คงเป็นข้าว กับมันสำปะหลัง เพราะต้องใช้น้ำนอกฤดูค่อนข้างมาก ซึ่งตัวหลักก็คือ ข้าว ส่วนใหญ่ที่กระทบก็จะเป็นภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่วนมันสำปะหลังก็จะเป็นทางภาคตะวันออกและอีสานที่กระทบมาก ๆ โดยรวม ๆ แล้ว ผลกระทบต่อ GDP (การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ) น่าจะประมาณ 53,000 ล้านบาท หรือดึง GDP ลบลงไป 0.22%” นายนริศกล่าว

“นริศ” บอกด้วยว่า เมื่อดูข้อมูลจากการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ (ดูกราฟิก) พบว่า แบงก์ ค่อนข้างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อแก่เซ็กเตอร์เกษตร โดยเฉพาะข้าวกับมันสำปะหลังมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อจนถึงสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 164,462 ล้านบาท ในกรณีข้าว พบว่าสินเชื่อลดลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 204,549 ล้านบาท ส่วนกรณีมันสำปะหลัง สินเชื่อลดลงมาอยู่ที่ 32,268 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 35,214 ล้านบาท

ทั้งนี้ การชะลอของสินเชื่อ คาดว่ามาจากแบงก์กังวลแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เพิ่มขึ้น โดยกรณีข้าวนั้นถึงสิ้นปี 2562 มีเอ็นพีแอลที่ 15.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่อยู่ที่ 14.4% ส่วนหนี้ที่ค้างชำระ 1-3 เดือน หรือ SM อยู่ที่ 7.2% เพิ่มจากปีก่อนที่อยู่ที่ 4.5% ส่วนมันสำปะหลัง เอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 8.3% เพิ่มจากสิ้นปี 2561 ที่อยู่ที่ 7% ส่วน SM ลดลงมาอยู่ที่ 1.6% จาก 2.8%

“ถ้าดูย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา จะเห็นว่าสินเชื่อในเซ็กเตอร์ข้าวกับมันสำปะหลังลดลงมาตลอด ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์ก็คงจะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ” นายนริศกล่าว

ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั่วประเทศ ณ 31 ม.ค. 2563 อยู่ที่ 18,359 ลบ.ม. คิดเป็นสัดส่วน 25.9% ของความจุระดับน้ำเก็บกักรวม เป็นระดับ “ต่ำสุดในรอบ 4 ปี” แต่ยังเป็นระดับใกล้เคียงกับปี 2558 ที่มีภัยแล้งรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบให้การผลิตในภาคการเกษตรปรับตัวลดลง 6.5% ต่อปี ดังนั้น หากปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปีอยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา หรือภัยแล้งรุนแรงมากขึ้นอีก ก็จะกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตรให้ปรับตัวลดลง รวมถึงเสี่ยงจะกระทบต่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้ สภาพัฒน์เสนอแนะว่า ในช่วงที่เหลือของปี รัฐบาลควรมีนโยบายดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชยและฟื้นฟูเกษตรกร และเร่งบริหารจัดการน้ำและบริหารจัดการการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตร รวมถึงป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการด้วย