แบงก์ดิ้นปรับตัวรับรายได้หด-ธปท.รื้อค่าฟีทั้งระบบ

ธปท.เรียก “สมาคมธนาคารไทย-แบงก์” ถกรื้อวิธีคิดค่าฟีอีกรอบ ก่อนออกไกด์ไลน์ในไตรมาส 3 “กรุงศรีฯ” เผยหลายแบงก์ยังมีข้อสงสัย พร้อมยืนยันคงกรอบเป้าหมายรายได้ค่าฟี ปี’63 เติบโต -3 ถึง 3% ฟาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” ลุยปั๊มรายได้ค่าฟีโปรดักต์ลงทุนแทน

นางสาวดวงดาว วงค์พนิตกฤต ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเรียกสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก เข้าหารือเรื่องหลักเกณฑ์การปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) การคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) อีกครั้งในเร็ว ๆนี้ เนื่องจากแบงก์ต่าง ๆ ยังมีข้อสงสัยหลายประเด็น จึงอาจต้องพูดคุยตกลง เพื่อให้การปรับระบบและคิดคำนวณค่าฟีออกมาให้ตรงกัน

ทั้งนี้ ในภาพรวมยอมรับว่ามีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข และวางแผนหารายได้อื่นมาทดแทน อย่างไรก็ดี กรุงศรีฯยังคงเป้าหมายรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 2563 เติบโตที่ -3 ถึง 3% เนื่องจากค่าฟีหลาย ๆ ตัวที่ ธปท.กำกับดูแล เป็นสิ่งที่ธนาคารปฏิบัติถูกต้องและไม่ได้คิดกับลูกค้าอยู่แล้ว

“จากสิ่งที่ ธปท.ประกาศให้ปรับเรื่องค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หลายอันเราทำอยู่แล้ว แม้จะมีเขียนว่า มีการเรียกเก็บ แต่ชีวิตจริงเราลดหย่อนหรือผ่อนผันให้ลูกค้าเสมอ แต่ก็มีตัวที่ได้รับผลกระทบบ้าง โดยเป้าหมายเติบโตที่ -3 ถึง 3% เป็นสิ่งที่เราประเมินไว้แล้ว”

นางสาวดวงดาวกล่าวอีกว่า แนวโน้มรายได้ค่าฟีของแบงก์ มีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ธปท.เปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิด digital disruption 2.ภาครัฐและ ธปท.ที่ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อออกมาช่วยเหลือและลดภาระลูกค้า ซึ่งกระทบต่อรายได้ และ 3.การกำกับดูแลการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (market conduct) ที่ทำให้การขายประกัน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำได้ยากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีฯมีรายได้ค่าธรรมเนียมเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของแบงก์ หรือราว 30% โดยปี 2562 ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปีนี้ประเมินว่ารายได้ค่าธรรมเนียมยังคงอยู่ในสัดส่วนดังกล่าว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพยายามรักษาพอร์ตสินเชื่อให้สมดุลระหว่างสินเชื่อรายย่อย (retail loan) และสินเชื่อธุรกิจ (commercial loan) ในสัดส่วนประเภทละ 50% ดังนั้น หากช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหรือขาลง รวมถึงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมมีความเข้มข้นขึ้น กรุงศรีฯก็จะได้รับผลกระทบน้อย เมื่อเทียบกับระบบ

“เราพยายามรักษาสมดุลของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจให้อยู่ 50 : 50 ซึ่งในยามดอกเบี้ยขาลง ค่าธรรมเนียมถูกจำกัด ทุกคนได้รับผลกระทบหมด แต่กรุงศรีฯจะไม่แย่มาก ไม่เสียการทรงตัว เมื่อเทียบกับเจ้าอื่น เพราะเราปรับวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า”

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารผลิตภัณฑ์การออม และกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มรายได้ค่าฟี เชื่อว่ายังคงปรับลดลงอีก แต่แบงก์ใช้จังหวะความเป็นแบงก์เล็กในการปรับตัว ปรับช่องทางการขาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า และลดผลกระทบ ประกอบกับในภาวะดอกเบี้ยต่ำคนหันมาสนใจลงทุนมากขึ้น เช่น การขายกองทุน ที่ค่าฟีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5-1%

ดังนั้น ปีนี้แบงก์จึงตั้งเป้ารายได้ค่าฟี จากการลงทุนและประกันที่ 1,480 ล้านบาท โตราว 30-40% จากปีก่อน ซึ่งราว 50% จะมาจากผลิตภัณฑ์กองทุน และอีก 50% จะมาจากผลิตภัณฑ์การลงทุน เช่น หุ้นกู้ การลงทุนควบประกัน (ยูนิตลิงก์) และตราสารหนี้ เป็นต้น


ก่อนหน้านี้ นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. ระบุว่า การปรับปรุงค่าธรรมเนียม 3 รายการ คือ ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตและเอทีเอ็ม เป็นเพียงการนำร่องเพื่อส่งสัญญาณให้แบงก์ปรับตัว โดย ธปท.มีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างค่าฟีทั้งระบบที่มีอยู่ 200-300 รายการ ซึ่งภายในไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีการออกไกด์ไลน์ เพื่อให้แบงก์ปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินทุกแห่งทยอยเปิดเผยค่าธรรมเนียมบนเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใส และหลังมีเกณฑ์ออกไปแล้ว ธปท.จะออกไปสุ่มตรวจแบงก์ช่วงปลายปีต่อไป