ค่าเงินผันผวนหลัง COVID-19 แพร่หนัก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 24-28 กุมภาพันธ์ 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 31.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 31.63/65 บท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนกังวล ส่งผลให้มีความต้องการเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายเทดรอส อัดฮานอม ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อไวรัส Covid-19 ยังไม่เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก แต่ประเทศต่าง ๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้วิจารณ์สถานการณ์เศรษฐกิจปัจุบันที่งานสัมมนาในรัฐมิชิแกน สหรัฐ โดยนางเยลเลนกล่าวว่าการระบาดของ Covid-19 นั้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรป นางเยลเลนกล่าวว่าการแพร่ระบาดของ COVI-19 จะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุด เนื่องจากโรงงานในประเทศจีนหลายโรงงานต้องหยุดชะงัก นอกจากนั้นยังส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวลดลงอีกด้วย ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นางเยลเลนพูดว่า ถือว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำ แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าของประเทศอื่น ๆ ที่ทยอยลดกันไปตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งนางเยลเลนกล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนั้นน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เพียงพอ ทางสำนักประธานาธิบดีอาจจะต้องใช้นโยบายการคลังมาสนับสนุน ในขณะที่ประธานาธิบดีแถลงว่า ความเสี่ยงของประชาชนอเมริกันต่อการติดเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำ และรัฐบาลมีความพร้อมมากในการรับมือ โดยทางรัฐบาลได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ต้องการให้ข่าวหรือข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดของโรคจะต้องได้รับอนุญาตจากนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีก่อน ทั้งนี้ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2556 ลดลงจากระดับ 53.3 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) รายงานตัวเลขยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลดลง 1.3% สู่ระดับ 5.46 ล้านยูนิตในเดือนมกราคม จากระดับ 5.53 ล้านยูนิตในเดือนธันวาคม และความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก Conference Board ของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 130.7 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 132.2

ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกประจำเดือนมกราคมขยายตัว 3.35% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวอยู่ที่ 2.95% ในขณะเดียวกันตัวเลขการนำเข้าของไทยหดตัว 7.86% น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรวมดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลอยุ่ที่ 1.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตลาดตราสารทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ภายหลังจากที่มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งในตอนแรกผู้ติดเชื้อรายนี้ได้ปกปิดข้อมูลว่ามีการเดินทางไปประเทศที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำให้แพทย์และพยาบาลรวมทั้งผู้ที่มีการติดต่อกับผู้ติดเชื้อรายนี้ เข้าข่ายเป็นผู้ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 แย่ลงไปอีก ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลอย่างมากว่าจะกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันในวันนี้ (28/2) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไว้วางใจในนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 272 เสียง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลังประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท โดยขยายวงเงินรายได้ต่างประเทศที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศจากไม่เกิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ครั้ง เป็น 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ครั้ง ซึ่งครอบคลุมทั้งรายได้จากค่าสินค้าส่งออกและรายได้อื่นด้วย สำหรับผู้ที่มีรายได้จากสินค้าส่งออกตั้งแต่ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง ธปท.ได้ผ่อนคลายเกณฑ์ให้สามารถใช้หักกลบรายจ่ายก่อนได้จึงนำกลับเข้าประเทศเฉพาะส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.52-31.92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 31.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (24/2) ที่ระดับ 1.0827/31 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.0807/10 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรเริ่มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยูโรโซน ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนประมาณครั้งที่ 1 ปรับตัวเพิ่มสู่ระดับ 49.1 และ 52.8 ตามลำดับในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 47.7 และ 52.4 ดัชนีภาคการผลิตและบริการนี้สื่อให้เห็นถึงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในยูโรโซนที่มีนางคริสติน ลาการ์ด ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายพยายามจะฟื้นฟูการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อที่ตอนนี้อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้รายงานดัชนีเงินเฟ้อในยูโรโซนล่าสุดหดตัว 1.0% ในเดือนมกราคมสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนีไตรมาส 4/2019 ออกมาที่ระดับร้อยละ 3 เท่ากับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อีกทั้งตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสเดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 102 ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 99 ทำให้ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซนผ่อนคลายลง แม้ว่าในขณะนี้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในประเทศแถบยุโรปเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเทศอิตาลี โครเอเชีย และมีแนวโน้มจะมีการแพร่กระจายต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0805-1.1049 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 1.1048/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (24/2) ระดับ 111.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 111.71/74 เยน/ดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะนอกประเทศจีน ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งนายกรัฐมนตรีอาเบะ ได้ขอความร่วมมือให้โรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันจันทร์หน้า (2/3) ถึงช่วงปิดภาคเรียนภาคฤดูใบไม้ผลิเพื่อป้องกันการแพร่ของไวรัส Covid-19 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108.51-111.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 108.51/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ