หุ้นดิ่งหนัก! “บจ.” แห่รับซื้อคืน แค่ต้นปีมูลค่าทะลุ 2 หมื่นล. แซงหน้าปี’62

บจ.แห่ “ซื้อหุ้นคืน” ผู้บริหาร “เก็บหุ้น” ช่วงตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก บล.เมย์แบงก์ชี้สะท้อน “ราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐาน-ซื้อพยุงราคา” ฟาก บล.ทิสโก้เผยต้นปีถึงปัจจุบันมี 8 บจ.ประกาศซื้อหุ้นคืนแล้วรวมกว่า 2.41 หมื่นล้านบาท เปิดโผอีก 5 บจ. กลุ่ม SET100 ส่อแววต้องซื้อหุ้นคืน ด้าน บล.เอเซีย พลัส เผยสถิติหุ้นที่ประกาศซื้อคืนหนุนราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นแค่ระยะสั้น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง 250 จุด หรือลดลง 10% จากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ภัยแล้ง, ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่งผลให้เห็นการประกาศซื้อหุ้นคืนของ บจ. และผู้บริหารที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ โดยในระยะถัดไป หากตลาดหุ้นยังมีแนวโน้มปรับลดลง และราคาหุ้นยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ อาจเห็นการประกาศซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้นอีก

“เราเห็นปรากฏการณ์การซื้อหุ้นคืนจากทั้ง บจ. และผู้บริหาร โดยในกรณีของ บจ.ซื้อหุ้นคืน ก็เป็นมติจากคณะกรรมการบริษัท ที่มองว่ามูลค่าที่ปรับลดลงมาอยู่ในโซนที่ถูกเกินไป ส่วนกรณีผู้บริหารซื้อหุ้นคืน ก็เพราะต้องอยู่กับธุรกิจไปตลอดชีวิต มีความเข้าใจธุรกิจ และมองว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ ก็อาจจะใช้จังหวะนี้เข้ามาซื้อหุ้นคืน โดยสัญญาณการซื้อหุ้นคืนแบบนี้สะท้อนว่า ราคาหุ้นปรับลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือในแง่หนึ่งก็อาจเป็นการซื้อหุ้นเพื่อพยุงราคาหุ้นก็ได้”

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีพบว่า ผู้บริหารที่ส่งสัญญาณ หรือประกาศจะซื้อหุ้นคืน อาจไม่ได้ซื้อหุ้นคืนจริงตามที่ประกาศ และมักใช้เหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นคืน เนื่องจากราคาหุ้นได้ปรับขึ้นแล้วหลังการประกาศ ซึ่งในกรณีแบบนี้จะส่งผลเสียต่อนักลงทุนรายย่อยที่เข้าไปเก็งกำไรรอรับปัจจัยดังกล่าว

“แนะนำให้นักลงทุนพิจารณากำไรสุทธิด้วย เพราะเวลาที่ราคาหุ้นปรับลงมาก็เป็นการสะท้อนว่า กำไรของบริษัทนั้น ๆ ไม่ค่อยดี หากกำไรดี ราคาก็ไม่น่าจะลงมาเละเทะจนถึงขั้นต้องซื้อหุ้นคืน นอกจากนี้ ราคาหุ้นที่ถูกเกินไปก็มีเหตุผล เช่น ก่อนหน้านี้ หุ้นตัวนี้อาจมีการซื้อขายในระดับราคาที่แพงเกินไป หรืออัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของตลาดที่ปรับลดลงมา ส่งผลให้ซื้อขายหุ้นในระดับราคาที่ถูกลง เป็นต้น”

รายงานแจ้งว่าช่วงที่ผ่านมา มีผู้บริหาร บจ.หลายรายที่ซื้อหุ้นคืน อาทิ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซื้อหุ้นธนาคารจำนวน 2.5 แสนหุ้น มูลค่ารวม 35.27 ล้านบาท, นางชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แม็คกรุ๊ป (MC) ซื้อหุ้น MC 1 แสนหุ้นราคาเฉลี่ย 11.80 บาท มูลค่ารวม 1.18 ล้านบาท เมื่อ 12 ก.พ. และซื้ออีก 5 หมื่นหุ้น ราคาเฉลี่ย 9.30 บาท มูลค่ารวม 4.65 แสนบาท เมื่อ 26 ก.พ. เป็นต้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมี บจ.ประกาศซื้อหุ้นคืนประมาณ 8 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) 2.บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 3.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 4.บมจ.ช.การช่าง (CK) 5.บมจ.บ้านปูเพาเวอร์ (BPP) 6.บมจ.ศุภาลัย (SPALI) 7.บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) และ 8.บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท (GIFT) มูลค่ารวม 2.41 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ทั้งปีที่มี บจ.ซื้อหุ้นคืน 1.36 หมื่นล้านบาท (18 บริษัท)

“ปีนี้เท่าที่สังเกต บจ.ที่ประกาศซื้อหุ้นคืน จะเป็นหุ้นที่มีขนาดกลางถึงใหญ่ และมีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (book value) ดังนั้น หุ้นที่น่าจะเข้าข่ายซื้อหุ้นคืน จะโฟกัสในกลุ่ม SET100 ซึ่งเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี แต่ราคาอาจปรับตัวลงตามภาวะตลาด ซึ่งจากข้อมูลพบว่า หลาย บจ.เข้าข่ายจะซื้อหุ้นคืนได้ อาทิ BBL, ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP), บมจ.พฤกษาโฮลดิ้ง (PSH) และ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH)”

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การซื้อหุ้นคืนเป็นการสะท้อนมุมมองผู้บริหารต่อราคาหุ้นที่อาจอยู่ในโซนถูกเกินไป และเป็นเครื่องมือหนึ่งในการรักษาราคาหุ้น เนื่องจากจะต้องเก็บหุ้นที่ซื้อไว้เป็นเวลา 6 เดือน ไม่สามารถขายได้ โดยข้อดีจะทำให้หุ้นมีการซื้อคืนไม่ถูกนำมาคำนวณกำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งจะทำให้ EPS สูงขึ้น และหนุนให้อัตราเงินปันผลต่อหุ้น (dividend yield) เพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลให้ปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดลดลง และทำให้ดันราคาหุ้นปรับขึ้นได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศเชิงบวกเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ขณะที่ข้อเสียของการซื้อหุ้นคืนอาจทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลว่า ในระยะถัดไปบริษัทจะไม่มีโครงการลงทุน หรือไม่มีเงินที่จะนำไปลงทุนใหม่ในอนาคต

“สถิติที่ผ่านมาพบว่า หลังประกาศซื้อหุ้นคืนราว 1 เดือน กว่า 61% ของหุ้นที่ประกาศ ราคาหุ้นจะปรับขึ้นโดดเด่น (outperform) ประมาณ 2.6% แต่หลังจากนั้น 3 เดือน ราคาหุ้นจะค่อย ๆ ซึมลง และหลังจากนั้น 6 เดือน ราคาหุ้นมีความเสี่ยงจะลงไปติดลบราว 1.1% โดยความน่าจะเป็นที่ราคาหุ้นจะติดลบอยู่ที่ประมาณ 55% สะท้อนว่า หลังประกาศซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นจะดีในระยะสั้นเท่านั้น”