ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ย กดดันดอลลาร์อ่อนค่าต่อ

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 2 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 31.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 31.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ยังคงปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า อันเนื่องมาจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงการณ์ในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (29/2) ว่าปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่งและมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเฝ้าระวังผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด ทางด้านประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ นายเจอมส์ บูลลาร์ด กล่าวสนับสนุนให้มีการปรับลดดอกเบี้ยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ที่เปิดเผยในช่วงคืนวันศุกร์ (29/2) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมกราคมเมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนธันวาคม ยังคงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.22% ในเดือนมกราคมต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0.3% อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ขยายตัวสู่ระดับ 100 ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากแตะระดับ 99.8 ในเดือนมกราคม โดยได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนบุคคล และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเขตชิคาโก ขยายตัวสู่ระดับ 49 ในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าในช่วงเดือนมกราคมที่ระดับ 42.9 ทั้งนี้ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.30-31.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 1.1060/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (21/2) ที่ระดับ 1.1044/47 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในยูโรโซนโดยล่าสุดมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายแรกเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ เช่น อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส, ลิทัวเนีย

ทั้งนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณในวันศุกร์ (29/2) ว่าธนาคารกลางยุโรปยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโรคระบาด ปัจจุบันตลาดได้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในเดือนเมษายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1001-1.1093 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1073/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/3) ที่ระดับ 107.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/2) ที่ระดับ 108.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงการณ์ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีแนวดน้มที่จะระบาดทั่วโลก และล่าสุดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก เพิ่มขึ้นเป็น 3,039 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอยู่ที่ 88,437 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.97-108.57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.07/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ โดย ISM เดือนกุมภาพันธ์ (2/3), ดัชนีภาคการผลิตของเยอรมนีเดือนกุมภาพันธ์ (2/3), ดัชนีภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรเดือนกุมภาพันธ์ (2/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนกุมภาพันธ์ (3/3), ดัชนีภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักรเดือนกุมภาพันธ์ (3/3), ดัชนีภาคบริการของสหรัฐ โดย ISM เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ โดย ADP เดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีภาคบริการของจีนเดือนกุมภาพันธ์ (4/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกุมภาพันธ์ (5/3), จำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (6/3), อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (6/3), ดุลการค้าของสหรัฐเดือนมกราคม (6/3),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.00/-1.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.20/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ