กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ปรับแผนธุรกิจโต ควัก 50 ล้านบาทพลิกโฉมแบรนดิ้งใหม่

กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ปรับกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปัจจัยเสี่ยง ดึง DSR 70% กรองลูกค้าใหม่-อุ้มลูกค้าเก่าผ่านมาตรการพักหนี้-ลดชำระขั้นต่ำเหลือ 3% เผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรไตรมาสที่ 1 ชะลอเหลือโตได้ 5% จากเป้าทั้งปี 11% ยอดอยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท หลังพบสัญญาณลูกค้าผ่อนชำระหนี้ล่าช้า 0.14% ดันหนี้เสียแตะ 2.8% พร้อมควัก 50 ล้านบาทเดินหน้าปรับภาพลักษณ์แบรนดิ้ง-สาขาใหม่

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตภายใต้แบรนด์กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ไทยเผชิญสถานการณ์ปัจจัยลบต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภัยแล้ง และล่าสุดการระบาดของไวรัส Covid-19 ยอมรับว่า ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทได้รับผลกระทบ แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้มีการปรับแผนธุรกิจในการเติบโต แต่บริษัทได้ปรับวิธีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ (Approve) โดยเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาตามสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) อยู่ที่ 70% ส่งผลให้ยอดอนุมัติบัตรใหม่ลดลง 10% เหลืออยู่ที่ 3.35 แสนบัญชี จากฐานลูกค้ารวม 2.34 ล้านราย

นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มการเฝ้าระวังลูกค้าที่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ โดยได้ออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการพักชำระหนี้ ลดภาระการชำระหนี้ โดยพักชำระหนี้ 3 เดือน และลดการผ่อนขั้นต่ำเหลือ 3% เพื่อช่วยประคองให้ลูกค้าผ่านช่วงนี้ไปได้ เนื่องจากบริษัทเริ่มเห็นสัญญาณความสามารถการผ่อนชำระลดลงของลูกค้าบางกลุ่มที่มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน เช่น กลุ่มพนักงานเงินเดือน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวกลุ่มโรงแรม เป็นต้น โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะขยับเพิ่มขึ้น 0.14% จากสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ 2.8% เช่นเดียวกับยอดสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่จะขยับเพิ่มขึ้น 0.14%

ขณะที่เป้าหมายการเติบโตธุรกิจในปี 2563 ในส่วนยอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 11% แบ่งเป็นการเติบโตในส่วนของบัตรเครดิต 20% และสินเชื่อผ่อนชำระและกดเงินสดเติบโต 8% โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อคงค้าง 6.3 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% จากปี 2562 อยู่ที่ 6.04 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทประเมินสถานการณ์การใช้จ่ายผ่านบัตรในปีนี้ เชื่อว่าในส่วนของการใช้จ่ายผ่านบัตรหมวดห้างสรรพสินค้าอาจจะปรับลดลงบ้าง เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้จะเห็นอัตราการเติบโตติดลบ จากเดิมมีอัตราการเติบโต 100% เป็นผลมาจากไวรัส Covid-19 โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 1-2 ยอดใช้จ่ายจะสามารถเติบโตได้ราว 5% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

“ตอนนี้เราต้องประคองลูกค้าเดิมไม่ให้ถึงจุดที่มีปัญหา โดยเราปรับกลยุทธ์ทั้งในส่วนของลูกค้าใหม่ผ่านการใช้ DSR 70% กรองลูกค้าตั้งแต่หน้าบ้าน ลดค่าใช้จ่าย และพอร์ตลูกค้าเก่าที่มีปัญหาก็เข้าไปช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ แม้ว่าจะช่วยแล้วก็มีบ้างส่วนไหลเป็น Re-Entey ก็ต้องช่วยให้ผ่านช่วงนี้”

นายอธิป ศิลป์พจีการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารธุรกิจ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทในการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ภายใต้แนวคิด “จุดเริ่มต้น คนมีเครดิต” โดยนอกจากจะเติมความสดใสให้แบรนด์ดูทันสมัย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้นแล้ว ยังได้ยกระดับภาพลักษณ์จากการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเป็น “ผู้ช่วยสร้างเครดิตเพื่ออนาคตทางการเงินที่ดี” โดยเรามีความตั้งใจที่จะเป็นหนึ่งในตัวช่วยสร้างเครดิตเพื่ออนาคตให้แก่สมาชิกบัตร ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินคุณภาพ เพื่อสร้างการเติบโตของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ บริษัทได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์, หน้าบัตร, สาขา, ยูนิฟอร์มพนักงาน ให้ออกมาทันสมัย โดยโลโก้รูปแบบใหม่ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ที่เป็นสัญลักษณ์บูมเมอแรงนั้น เป็นการสะท้อนความเชื่อของแบรนด์ที่ว่า คนที่มีเครดิตทางการเงินที่ดี ควรจะได้รับโอกาสและสิ่งดี ๆ กลับคืน นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชัน UCHOOSE ครั้งแรกของกลุ่มสถาบันการเงิน เพื่อแจ้งสถานะสุขภาพทางการเงิน (Credit Health) ของลูกค้า และบริการแจ้งเตือนเมื่อมีการใช้จ่ายสูง (Spending Alert) เพื่อช่วยระวังการใช้จ่ายได้ด้วยตนเอง หวังจุดประกายลูกค้าเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพทางการเงินที่ดี


“การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ ผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนการบริการรูปแบบใหม่ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ด้านวิสัยทัศน์ของผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อเป็นตัวช่วยในการผลักดันให้เกิดวินัยในการใช้เงิน และเพื่อการสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทย อันจะส่งผลดีต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต เพราะเราต้องการจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้คนมีเครดิตที่ดีอย่างแท้จริง”