ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง รอดูนโยบายรับมือผลกระทบของ COVID-19 จาก กนง.

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/3) ที่ระดับ 31.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (4/3) ที่ระดับ 31.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ช่วงต้นสัปดาห์มีการอ่อนค่าอย่างมาก เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (4/3) ตัวเลขดัชนีภาคบริการของสหรัฐ โดย ISM เดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 57.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ระดับ 55.5 และยังสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงไปอยู่ที่ 54.9 อีกด้วย ตัวเลขดังกล่าวช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนได้บ้าง หลังก่อนหน้านี้ (3/3) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายฉุกเฉินนอกตารางการประชุม โดยลดดอกเบี้ยลง 0.5% สู่ระดับ 1.00%-1.25%

ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนอกรอบการประชุมของ Fed เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2551 เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่า Fed ยังมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งหนึ่งในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 17-18 มีนาคม 2563 ที่กำลังจะถึงนี้อีกด้วย

ในส่วนของค่าเงินบาทวันนี้ปรับตัวอ่อนค่าลง แม้ว่าเมื่อวาน (4/3) นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะออกมากล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของ Fed เพื่อลดผลกระทบจาก COVID-19 นั้นว่า แต่ละประเทศได้พิจารณาดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม และทาง ธปท.เองก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.00% ไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และกำลังติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

และในวันนี้ (5/3) ทาง ธปท.เองก็ได้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมว่าจะมีการประกาศตัวเลขคาดการณ์ GDP ของประเทศในการประชุม กนง. วันที่ 25 มีนาคม 2563 อีกด้วย นอกจากนี้กระทรวงการคลังเองก็ได้ออกมาประกาศว่าจะดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายเศรษฐกิจในระยะสั้นนี้ โดยได้หารือกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ใช้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ยกเลิกไปแล้ว เพื่อหวังว่าจะช่วยพยุงตลาดทนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวลงไปอย่างมากด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.35-31.52 บาท/ดอลลาร์สหรับ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/3) ที่ระดับ 1.1137/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (4/3) ที่ระดับ 1.1138/42 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวาน (4/3) ที่ระดับ 1.1138/42 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวาน (4/3) สหภาพยุโรปได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคบริการของสหภาพยุโรปในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 52.6 ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ52.8 เล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีภาคบริการของอิตาลีในเดือนกุมภาพันธ์ออกมาที่ระดับ 52.1 ในขณะที่คาดการณ์อยู่ที่ 51.4

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในยุโรปยังน่าวิตก โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถาบันต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ 2 ราย ไม่กี่วันก่อนหน้าที่บรรดาคณะรัฐมนตรีจาก 27 ประเทศสมาชิกจะประชุมฉุกเฉินเพื่อรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 12 มีนาคม 2563 นี้ว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายเพื่มเติมเพื่อรับมือการแพร่ระบาดหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1120-1.1143 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1138/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/3) ที่ระดับ 107.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (4/3) ที่ระดับ 107.51/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าต่อเนื่องในฐานะสินทรัพยปลอดภัยหลังจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงความรุนแรงต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน โดยล่าสุดสถิติผู้เสียชีวิตทั่วโลกวันนี้ (5/3) อยู่ที่ 3,286 ราย และผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกอยู่ที่จำนวน 95,425 ราย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.04-107.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.10/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกุมภาพันธ์ (5/3), จำนวนการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (6/3), อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (6/3), ดุลการค้าของสหรัฐ เดือนมกราคม (6/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.90/-0.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.70/+2.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ