ยักษ์ประกันลงทุนที่พักสูงวัย อาคเนย์พลิกโฉม”นอร์ธปาร์ค”

แฟ้มภาพ

บริษัทประกันโดดลงทุนอสังหาฯต่อยอดธุรกิจ “เมืองไทยประกันชีวิต” ศึกษาโมเดลเนิร์สซิ่งโฮมดูแลผู้สูงอายุ รับเทรนด์ aging society “กรุงเทพประกันชีวิต” หาพันธมิตรกลุ่มโรงพยาบาลผุดสถานพักฟื้น กลุ่มเจ้าสัวเจริญแจมผุด “เวลเนส นอร์ธปาร์ค” ฟาก “คปภ.” เร่งศึกษาโปรดักต์ long-term care ตอบโจทย์ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผู้สูงวัยและผู้มีภาวะพึ่งพิง รูปแบบเป็นการประกันในรูปของบำนาญและสุขภาพ อย่างไรก็ดี กรมธรรม์เหล่านี้จะรองรับสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) ในโปรเจ็กต์ที่บริษัทมีแผนจะลงทุนในอนาคตด้วย เนื่องจากมองเห็นช่องทางจากการต่อยอดธุรกิจหลัก หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อนุญาตให้บริษัทประกันสามารถลงทุนธุรกิจที่ประกอบกิจการดูแลผู้สูงวัย และผู้มีภาวะพึ่งพิงในประเทศไทย (long-term care) ได้

“เมืองไทยฯ” ต่อยอดธุรกิจ

เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากสถานที่ดูแลพักฟื้น และช่วยเหลือผู้สูงอายุ (nursing home) โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะลงทุนในรูปแบบอพาร์ตเมนต์สำหรับการใช้ชีวิตอิสระของคนพิการที่ยังดูแลตนเองได้ (independent living) ภายในโครงการจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คอยบริการ

“มีหลายรูปแบบที่จะลงทุนได้ แต่ต้องศึกษาให้ดี เนื่องจากตอนนี้เอกชนสนใจลงทุนเยอะมาก และไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจประกัน แต่หลาย ๆ อุตสาหกรรมอย่างโรงพยาบาล ผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ฯลฯ ก็สนใจ ฉะนั้น ต้องดูดีมานด์และซัพพลายว่าจะไปได้ขนาดไหน รวมถึงจังหวะเวลา และจำนวนประชากร ซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมาย”

“กรุงเทพประกันชีวิต” แจมด้วย

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เปิดเผยว่า ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาดูแลผู้สูงวัยและผู้มีภาวะพึ่งพิงค่อนข้างทำยาก เพราะโครงสร้างยังไม่พร้อม และบริษัทประกันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการกำหนดอัตราเบี้ย และรูปแบบกรมธรรม์ แต่ก็เห็นโปรดักต์ที่ยังขาดอยู่ แต่ไม่มีใครกล้าเสนอขาย คือ ประกันสุขภาพคุ้มครองหลังอายุ 60 ปี (หลังเกษียณ) เช่น คนที่อยู่ในภาคประกันสังคม 14 ล้านคน หลังจากเกษียณอายุจะไม่ได้สวัสดิการสุขภาพ และถูกส่งไปรวมกับสวัสดิการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งต้องไปแย่งต่อคิวกัน ฉะนั้น หากมีสถานพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และครอบคลุมผู้สูงวัย โดยไม่ต้องไปอาศัยกองทุนอื่นจะเป็นเรื่องที่ดีมาก

“ทางออกมองว่าอาจจะต้องมีกองทุนบางกองทุนมาช่วย ซึ่งถ้าจะเริ่มต้องเริ่มกับกลุ่มประกันสังคมก่อน โดยร่วมกันทำกองทุนสุขภาพให้กับคนกลุ่มนี้ แต่การกำหนดอัตราเบี้ยยากมากสำหรับคนสูงวัย เพราะราคาสูง โดยเฉพาะช่วงเข้าอายุ 75-80 ปี ทำเบี้ยลำบาก ซึ่งปัจจุบันมีการรับประกันถึงอายุ 80 ปีแล้ว และคุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี แต่ราคาหลายแสนบาท คนจึงไม่อยากซื้อเพราะแพง”

จับมือพันธมิตรโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม มองเป็นโอกาสของบริษัท เบื้องต้นจะเลือกลงทุนกิจการที่รองรับการกายภาพบำบัด หรือรับดูแลหลังจากออกโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีสินค้าครอบคลุมบริการดังกล่าวอยู่แล้วนานถึง 60 วัน ผ่านประกันสุขภาพบีแอลเอ เพรสทีจ เฮลธ์ ขณะเดียวกันได้ไปสำรวจบ้านสุขภาพ NUSA My OZONE ที่เขาใหญ่ พบว่าน่าสนใจ เพราะเป็นสถานที่รองรับของกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ อาจลงทุนผ่านการจับมือพันธมิตรกับโรงพยาบาล เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีคนเกษียณอายุจำนวนมาก และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำจะยิ่งทำให้คนสูงวัยอยู่ได้นานขึ้น แต่จะอยู่ในภาวะติดเตียงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสถานที่รองรับยังมีไม่เพียงพอ

เจ้าสัวเจริญลุยเวลเนสนอร์ธปาร์ค

ก่อนหน้านี้ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ หรือ SEG กลุ่มธุรกิจประกัน (อาคเนย์) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งแบ็กดอร์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังเทกโอเวอร์ บมจ.ไทยประกันภัย กลางปี 2562 แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีแผนขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “เวลเนส ลีฟวิ่ง” เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการสำหรับผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน จะเริ่มโครงการแรก คือ โครงการเวลเนส ลีฟวิ่ง นอร์ธปาร์ค ซึ่งเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บจ.นอร์ธปาร์ค เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ จากบริษัทในตระกูลสิริวัฒนภักดี ด้วยมูลค่า 2,200 ล้านบาท พร้อมแผนลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาโครงการอีกประมาณ 800 ล้านบาท

สำหรับโครงการเวลเนส ลีฟวิ่ง นอร์ธปาร์ค มีสินทรัพย์หลัก ได้แก่ อาคารชุดนอร์ธพาร์คเพลส อายุ 9 ปี ห้องพักอาศัยรวม 131 ยูนิต ประกอบด้วย ห้องชุด สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สนามกอล์ฟ สโมสร คลับเฮาส์ ห้องเซาน่า สวนหย่อม สนามเด็กเล่น

Long-term Care รับสังคมสูงวัย

ขณะที่นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ไทยกำลังเตรียมรับมือสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และพฤติกรรมในการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งธุรกิจประกันต้องเผชิญความท้าทาย โดยข้อมูลจากสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในปี 2563 ไทยจะมีคนสูงอายุ 12.62 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากร และอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 20.52 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ผู้ที่มาใช้บริการสถานพยาบาลจึงต้องอาศัยเรื่องประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้โปรดักต์ long-term care อยู่ระหว่างให้ทีมอาจารย์จุฬาฯศึกษาวิจัยว่าควรจะเน้นอะไร ถ้าแพงไปก็อาจลดสัดส่วนเงินก้อนที่จะจ่าย แต่เพิ่มความคุ้มครองชีวิตมากขึ้น หรือบางเรื่องต้องให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ต้องศึกษาต่อไป เพราะบางผลิตภัณฑ์ทำแล้วมีโอกาสขาดทุน แต่ในอนาคตจำเป็นต้องมีมารองรับ” นายสุทธิพลกล่าว