ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อหลังสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐ ปรับลดลงสูงสุดในรอบกว่า 9 เดือน

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มต่อหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดมากถึง 7.6 ล้านบาร์เรล มากสุดในนับตั้งแต่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยสัดส่วนการปรับลดร้อยละ 80 อยู่ในบริเวณ Gulf coast แม้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จะปรับลดลงแตะระดับ 495.4 ล้านบาร์เรล แต่ระดับปริมาณนี้ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังของเดือนเดียวกันมากถึงร้อยละ 50

– ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 4 สัปดาห์และอ่อนตัวกว่าปีก่อนหน้าราวร้อยละ 0.3 แม้ว่าปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ตามการรายงานของ EIA จะปรับลดลงราว 1.6 ล้านบาร์เรลแต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี

– กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) คาดปีหน้าอุปทานและอุปสงค์ยังคงมีโอกาสน้อยที่จะสมดุล แม้ OPEC จะปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงว่าด้วยการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบ แต่หากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ลิเบียและไนจีเรีย ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตลาดมีโอกาสกลับเข้าสู่จุดสมดุลช้าลง โดย OPEC คาดว่าปี 2561 ความต้องการใช้น้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศโอเปก (Call on OPEC) จะอยู่ที่ระดับ 32.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2560 ประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน และยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 32.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA).รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงราว 1.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่การส่งออกจากจีนมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากโรงกลั่นบางแห่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงซ่อมบำรุง
.
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่ากับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการนำเข้าน้ำมันดีเซลที่ยังคงแข็งแกร่งของอินเดีย ขณะที่โรงกลั่นในอินเดียยังคงอยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์มีแนวโน้มปรับลดลงหากการซ่อมบำรุงเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือน ก.ค.

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มคงกำลังการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย คาดจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 495.4 ล้านบาร์เรล

การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทิศทางการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงหลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากความกังวลปัญหาอุปทานล้นตลาด โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพียง 94 แท่นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่เพิ่มขึ้นกว่า 137 แท่น

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบียมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นต่อเนื่อง โดยไนจีเรียคาดจะกลับมาสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 17 เดือน ในขณะที่ลิเบียปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้
ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในวันที่ 24 ก.ค. ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมหรือกำหนดเพดานการผลิตของลิเบียหรือไนจีเรีย เพื่อช่วยสนับสนุนราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติมหรือไม่