“กรุงศรีฯ” อัพงบลงทุนฟินเทค เร่งต่อยอดธุรกิจใน-นอกประเทศ

แบงก์กรุงศรีฯไฟเขียว “กรุงศรี ฟินโนเวต” อัพเงินลงทุนเพิ่มเป็น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ “ฐากร” ชี้เน้นลงทุน “ฟินเทค-เทคโนโลยีใหม่” ที่ต่อยอดธุรกิจให้ธนาคาร ทั้งต่างประเทศ-ในประเทศ ขณะที่เอ็มดี “กรุงศรี ฟินโนเวต” เล็งครึ่งปีแรกอัดงบฯ 10 ล้านดอลลาร์ ลงทุนฟินเทค 3 บริษัท ปลื้มผลตอบแทน “ฟินโนมีนา” โต 3 เท่าใน 3 ปี เตรียมเข็นเข้าจดทะเบียน mai ปี’65

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี ฟินโนเวต และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า บริษัท กรุงศรีฟินโนเวต ได้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีฯ เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ขออนุมัติวงเงินลงทุนเพิ่มเป็น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยอนุมัติไว้แล้วราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ลงทุนในฟินเทคและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มทุนให้กับบริษัทฟินเทคที่บริษัทลงทุนไว้ แต่ต้องการทุนเพิ่มเติม โดย 30% ของเงินลงทุนที่ขออนุมัติเพิ่ม จะใช้ในการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วประมาณ 30% ที่เหลือจะเป็นการลงทุนใหม่

สำหรับแผนการลงทุนในปี 2563 บริษัทจะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีในต่างประเทศที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจของธนาคารได้ เช่น ฟิลิปปินส์ เน้นเรื่องเทคโนโลยีระบบการชำระเงิน (payment) หรือเทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงการลงทุนในบริษัทท้องถิ่นที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น ส่วนการลงทุนฟินเทคในประเทศจะเน้น 2-3 กลุ่ม คือ กลุ่ม AgriTech, HealthyTech และ logistics เป็นต้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

“วงเงินที่ได้รับอนุมัติเพิ่มมาจะนำไปใช้ในการลงทุนใหม่ รวมถึงเพิ่มเติมของเดิมที่เคยลงทุนไว้ ซึ่งเฉลี่ยการลงทุนของบริษัทในแต่ละปี ถ้าเป็นในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 6 ดีล ส่วนต่างประเทศจะมีประมาณ 2-3 ดีล” นายฐากรกล่าว

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต กล่าวว่า ภายในครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทจะมีการลงทุนในเทคโนโลยีฟินเทคอย่างน้อย 3 บริษัท วงเงินลงทุนอยู่ที่ราว 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะอยู่ในกลุ่ม property technology (PropTech) ที่นำมาใช้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มระบบชำระเงิน และกลุ่มเทคโนโลยีเกษตร เนื่องจากมีฐานลูกค้าโรงงานเกษตรค่อนข้างมาก ประกอบกับธนาคารต้องการนำมาช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาในเรื่องการเกษตรมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจลงทุนแพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ (e-Commerce) เพื่อนำมาช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและธุรกิจค้าขายได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการร่วมมือกับภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคเอกชน ในการร่วมลงทุนและพัฒนาฟินเทคสตาร์ตอัพขนาดเล็กภายในประเทศไทยให้เกิดขึ้น ภายใต้โครงการ InnoSpace (Thailand) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนร่วมกัน 800 ล้านบาท

นายแซมกล่าวว่า สิ่งที่บริษัทได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้จะเห็นว่าเริ่มทยอยสร้างผลตอบแทนแล้ว โดยเฉพาะ “ฟินโนมีนา” (Finnomena) ฟินเทคสตาร์ตอัพทางด้านแนะนำการลงทุนผ่าน robo advisor ซึ่งกรุงศรี ฟินโนเวต ได้ร่วมลงทุนมาเกือบ 3 ปี ปัจจุบันมีอัตราการเติบโต หรือให้ผลตอบแทนจากการลงทุนถึง 3 เท่า จากเดิมขนาดมูลค่าตลาด (market capital) อยู่ที่ 450 ล้านบาท ปัจจุบันมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าภายในปี 2565 จะนำฟินโนมีนา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)

“เราลงทุนในฟินโนมีนาจะครบ 3 ปี ในเดือน เม.ย.นี้ จะเห็นว่ามีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเรามีแผนว่าในอีกไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า น่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ส่วนลงทุนใหม่ในปีนี้จะได้เห็น 3 บริษัทด้วยกัน” นายแซมกล่าว