ส่องหุ้นเด่นรับเทรนด์ลดดอกเบี้ย ฟื้น LTF หวังฉุด SET พ้นจุดต่ำสุด

ตลาดหุ้นไทยที่ดิ่งหนักในเดือน ก.พ. โดยลบไปกว่า 11% ลดลงกว่า 170 จุดในเดือนเดียว ส่วนแนวโน้มเดือน มี.ค. เริ่มต้นเดือนมา ดูจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากที่เริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามาบ้าง ทั้งปัจจัยที่มีการคาดการณ์กันว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอีก ตามแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินทั่วโลก

รวมถึงการที่กระทรวงการคลัง เตรียมปรับเงื่อนไขกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อช่วยเหลือตลาดหุ้นที่ปรับลดลงรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมออกแพ็กเกจดูแลเศรษฐกิจอีกหลายแสนล้านบาท

เหล่านี้ดูจะปลุกบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยเดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกนี้ให้ดูคึกคักขึ้นมาได้บ้าง

โดย “ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมองเป็นบวกต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนอกรอบของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อ 3 มี.ค. โดยจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าจะช่วยให้ปริมาณเงินในระบบสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น และการที่ธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วย เช่น ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ปรับลดลง 0.25% ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ลดลง 0.25% ก็น่าจะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยเช่นกัน

“เชื่อว่า กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนในตลาดเงินปรับลดลง ทำให้นักลงทุนเริ่มมีพฤติกรรมแสวงหากำไร (search for yield) มากขึ้น” นายชาญชัยกล่าว

สำหรับกลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์ช่วงดอกเบี้ยขาลง ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราเงินปันผล (dividend yield) สูง และ จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ (ดูกราฟิก)

“ดัชนี SET index ปัจจุบันไม่แพงมาก หากคำนวณจากกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 85.60 บาท จะพบว่ามีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) ที่ประมาณ 16 เท่าเท่านั้น และหาก กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง จะยิ่งส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนหนุนตลาดหุ้นเพิ่มเติม จึงแนะนำทยอยสะสมในระยะกลางถึงยาว” นายชาญชัยกล่าว

“ภราดร เตียรณปราโมทย์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า การปรับเกณฑ์กองทุน SSF จะดึงดูดให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น หลังจากที่ช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาแรงราว 12-13% ซึ่งนอกจากปัจจัยไวรัสโควิด-19 แล้ว ยังมีปัจจัยที่ตลาดหุ้นขาดเม็ดเงินพยุงจากการซื้อกองทุน LTF อยู่ด้วย

“เมื่อก่อนเวลาหุ้นตกคนจะเดินไปซื้อกองทุน LTF ส่งผลให้แรงซื้อตรงนี้เป็นตัวช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นขึ้นมา แต่ในปีนี้ไม่มีกองทุน LTF และกองทุน SSF ที่รอกันอยู่ก็ยังไม่มา แต่จากที่มีกระแสข่าวว่ารัฐจะปรับเกณฑ์ SSF ให้เท่ากับ LTF ก็น่าจะช่วยพยุงตลาด จากแรงซื้อใหม่ที่เข้ามาหนุน และแรงซื้อเก่าที่อาจจะชะลอการขายไปก่อนจากข่าวที่ออกมา” นายภราดรกล่าว

ด้าน “สุนทร ทองทิพย์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ประเมินว่า ในภาวะดอกเบี้ยขาลงเช่นนี้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่ธนาคาร (nonbank) จะเป็น 2 กลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์ โดยหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์จากการที่ต้นทุนเงินลงทุนเฉลี่ยของกิจการ (WACC) ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเป้าหมายปรับขึ้นโดยปริยาย ขณะที่กลุ่ม nonbank ก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ยลดลงเนื่องจากสามารถรีไฟแนนซ์เงินกู้ได้

“ทุก ๆ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% พบว่าจะส่งผลบวกต่อกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่ม nonbank ราว 1-2%” นายสุนทรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงระบาด จึงอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่า SET index ได้เคลื่อนไหวผ่านจุดต่ำสุด (bottom) ไปแล้ว

แนะแยกวงเงินได้ลดภาษี-ตีกรอบลงทุนหุ้นไทย

ภาคเอกชนตลาดทุน ออกมาสนับสนุนแนวคิดของกระทรวงการคลัง ในการปรับรูปแบบกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้มีลักษณะใกล้เคียงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อช่วยฟื้นตลาดหุ้นไทย

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า คลังอาจแยกวงเงินการให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีของ SSF ออกมาต่างหาก จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ โดยไม่นับรวมอยู่ในวงเงิน 5 แสนบาท เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี หนุนให้มีเม็ดเงินให้ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ผ่านมา มีแรงเทขายหุ้นที่มากเกินจริง

“กระแสข่าวเรื่องปรับกองทุน ช่วยให้ SET index กลับมาเป็นบวกได้ และถ้ามาตรการออกมาตามที่คาดไว้ ก็น่าจะตอบโจทย์ได้ ซึ่งคลังและกรมสรรพากร คงหารือกันว่าจะให้เม็ดเงินในระดับไหน อย่างไรก็ดี ควรจำกัดให้ลงทุนเฉพาะหุ้นในประเทศ เพื่อช่วยตลาดหุ้นไทยสามารถผ่านจุดต่ำสุดไปได้ ไม่ติดลบลุกลามไปมากกว่าที่ผ่านมา และควรกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิลงทุนให้ชัดเจน เช่น ภายในไตรมาส 2 เพื่อให้เงินเข้าตลาดเร็วที่สุด”

เช่นเดียวกับ “ธิดาศิริ ศรีสมิต” รองกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย มองว่า หากจะให้ได้ผลดี ก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือวงเงินแบบ LTF ไปเลย เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้าระดับ 5 หมื่นล้านบาทได้ เพราะแบบ SSF คาดว่าจะมีเงินไหลเข้าแค่ราว 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น