บาทอ่อน หลังสงครามน้ำมันปะทุ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 9 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 31.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า อันเนื่องมาจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด) จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ที่เปิดเผยในช่วงคืนวันศุกร์ (6/2) กระทรวงแรงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 273,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เผยตัวเลขาดดุลการค้าของสหรัฐ ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลง 6.7% สู่ระดับ 4.53 หมื่นล้านดอลลาร์ และต่ำกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.61 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามในระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นตามภูมิภาคเนื่องจากนักลงทุนกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านการผลิตน้ำมันระหว่างประเทศรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย หลังซาอุดิอาระเบียได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากประสบความล้มเหลวในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันในการประชุมโอเปคที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันศุกร์ที่ผ่านมา (6/3) พร้อมทั้งประกาศปรับลดราคาน้ำมันดิบเดือนเมษายน สำหรับตลาดเอเชียลง 4-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และตลาดสหรัฐลดลง 7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาน้ำมันที่ต่ำที่สุดในรอบ ค.ศ. 1991 ในเหตุการณ์สงครามอ่าวครั้แรก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.36-31.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.59/61บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 1.1378/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 1.1300/05 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่เผยในช่วงคืนที่ผ่านมา (6/3) เผยออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในเยอรมนีออกมาขยายตัว 5.5% ในเดือนมกราคมมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 1.5% อย่างไรก็ตามนักลงทุนได้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 6.10% ในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ (12/3) โดยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ล่าสุดบ่งชี้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีทางเลือกด้านนโยบายที่จำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1282-.1492 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1405/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/3) ที่ระดับ 103.79/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 105.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลด้านสงครามน้ำมันที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในกำลังการผลิตของประเทศรัสเซียและซาอุดิอาระเบียและการยิงขีปนาวุธโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างน้อย 3 ครั้งในวันนี้ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) โดยเป้าหมายอยู่ในโซนทะเลตะวันออก

ในส่วนของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3,119 ราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 101,927 ราย

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นที่เปิดเผยในระหว่างวัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศญี่ปุ่นหดตัวลง 7.1% ในไตรมาส 4/62 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี การหดตัวนี้กดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 101.58-104.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 102.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าของเยอรมนี เดือนมกราคม (9/3), ดัชนีภาคการผลิตของเยอรมนีเดือนมกราคม (9/3), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนมีนาคม (9/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเดือนกุมภาพันธ์ (9/3), การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในยูโรโซน (10/3), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในสหราชอาณาจักร (11/3), ดัชนีภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรเดือนมกราคม (11/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (11/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (11/3), ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซนเดือนมกราคม (12/3), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ (12/3), การกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (12/3), ดัชนีราคาผู้บริโภคของเอรมนีเดือนกุมภาพันธ์ (13/3), ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐ ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (13/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศ อยู่ที่ -0.42/-0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.50/-1.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ