“DV” งัดแพลตฟอร์มจัดซื้อจัดจ้าง ดึงคู่ค้าบริษัทยักษ์เข้าฐานสินเชื่อ

บริษัทลูก SCB “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” รุกขยายฐานลูกค้ากลุ่มซัพพลายเชนคู่ค้าบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ “SCG-เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป-แสนสิริ” ดันใช้แพลตฟอร์ม B2P จัดซื้อจัดจ้างครบวงจร ชี้ช่วยธุรกิจประหยัดต้นทุน-กู้เงินได้ดอกเบี้ยต่ำลง หวังกวาดคู่ค้า 1 หมื่นบริษัทเข้าฐานลูกค้า แบงก์รับอานิสงส์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น-หนี้เสียน้อย พร้อมพัฒนาโซลูชั่น “Supply Chain Global Trade” หนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออกภายในครึ่งแรกปีนี้

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส (DV) บริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการดำเนินงานในปี 2563 บริษัทยังต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยผลักดันแพลตฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือที่เรียกว่า Blockchain Solution for Procure-to-Pay หรือ B2P ที่จะมาช่วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้า ชำระค่าสินค้า และตรวจสอบการทำธุรกรรมทั้งระบบของลูกค้า

โดยบริษัทยังเน้นขยายความร่วมมือกับลูกค้ารายใหญ่ต่อเนื่อง จากในปีที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือกับลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ บมจ.เครือซิเมนต์ไทย (SCG), บมจ.เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป และล่าสุด บมจ.แสนสิริ โดยบริษัทตั้งเป้าเพิ่มฐานคู่ค้าของลูกค้าให้ได้ 1 หมื่นบริษัท จากปัจจุบันมีฐานคู่ค้าอยู่ประมาณ 2,000 บริษัท

“ระบบ B2P จะช่วยลูกค้าประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ และระยะเวลาในการสั่งซื้อสินค้า ระบบการชำระเงิน การส่งสินค้า และตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฉลี่ยระบบ B2P จะลดต้นทุนให้แก่ลูกค้ากว่า 50% และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสูงถึง 70% ทั้งนี้ แบงก์จะได้รับประโยชน์ในเรื่องการขยายฐานลูกค้า จากเดิมจะหาลูกค้าได้คราวละ 1 ราย แต่ระบบนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าคราวละเป็นหลักพันราย”

นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ดีขึ้น ลดการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เนื่องจากธนาคารจะเห็นกระแสการทำธุรกรรมระหว่างลูกค้าและคู่ค้าที่มีการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม B2P ทำให้ธนาคารสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงลูกค้าจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เฉลี่ยต่ำกว่า 4% จากเดิมอัตราดอกเบี้ยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 12-18%

“แพลตฟอร์ม B2P เป็นสิ่งที่ DV พัฒนา แต่การปล่อยสินเชื่อจะผ่านธนาคารไทยพาณิชย์เหมือนเดิม โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ธนาคารไม่ต้องเสียเวลาในการวิเคราะห์สินเชื่อ หรือตรวจสอบลูกค้านานเหมือนวิธีเดิม หนี้เสียน้อยลงหรือไม่มีเลย เพราะเรารู้จักลูกค้า และธนาคารได้ฐานลูกค้าจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น”

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโซลูชั่น แพลตฟอร์มการซื้อ-ขายระหว่างประเทศ (Supply Chain Global Trade) เนื่องจากไทยมีการส่งออกและนำเข้าในสัดส่วนสูงถึง 70% ของ GDP หากสามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ได้ เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจค่อนข้างสูง เพราะเป็นกลุ่มที่ยังมีศักยภาพเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาระบบแล้วเสร็จภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้


“งบฯลงทุนในการพัฒนาแพลตฟอร์มทั้งในส่วนของ B2P และ Supply Chain Global Trade ไม่ได้ตั้งเป็นพิเศษ เพราะเราใช้คนในองค์กรพัฒนาระบบกันเอง ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานด้านไอทีที่พัฒนาอยู่ 130 คน ดังนั้นงบฯส่วนใหญ่จะเป็นเงินเดือนทีมงาน” นายอรพงศ์กล่าว